เกี่ยวกับเรา

ประวัติความมา

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสารสนเทศที่เกิดจากการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ ผ่านห่วงเวลาและการลองผิดลองถูก และการนำไปใช้จริงในการดำเนินชีวิตของบรรพชนคนรุ่นเก่าในชุมชน จนก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ของกลุ่มหรือชุมชนขึ้น ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ผ่านการปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและยุคสมัยเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคม และการดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลาย ๆ ประการได้ทำให้องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบางส่วนได้สูญหายและขาดความสมบูรณ์ครบถ้วนไป อันเนื่องจากการบันทึกอย่างเป็นระบบ กอปรกับการหวงวิชาของผู้รู้นั้น ตลอดถึงขาดการสืบทอดของชนรุ่นหลัง อย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นไม่ได้เผยแพร่ไปในวงกว้าง และเกิดการสูญหายไปในที่สุด

การถ่ายทอดภูมิปัญญาในอดีตนั้นบรรพชนจะเป็นผู้สั่งสอนลูกหลาน โดยมุ่งสอนให้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการสอนหรือถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพของครอบครัว เพื่อจะให้ลูกหลานได้มีความรู้หรือทักษะอาชีพติดตัวไว้เพื่อทำมาหากินในอนาคต ซึ่งในการถ่ายทอดความรู้นั้น ๆ ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดทฤษฎีแล้วยังสอนให้ลงมือทำหรือปฏิบัติจริงภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ ด้วย และถ้าไม่เข้าใจหรือมีปัญหาก็จะได้รับคำแนะนำและแก้ไขให้ถูกต้องได้อย่างทันที ในอดีตการเรียนสิ่งต่าง ๆ นอกจากตัวผู้รู้เองแล้วยังสามารถเรียนรู้ผ่านสิ่งต่าง ๆ เช่น วัด โรงเรียน ตลาด หรือศูนย์ประชุมของชุมชน ได้ซึ่งการถ่ายทอดจะเป็นแบบปากต่อปากหรือที่เรียกว่ามุขปาฐะ ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่มีสื่อสารสนเทศหลาย ๆ รูปแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และยิ่งเป็นยุคของสังคมโซเชียลมีเดียด้วยแล้วเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางแก่อนุชนรุ่นหลังและจะเป็นส่งเสริม อนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าให้ดำรงคงอยู่สืบไป

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศที่รวดเร็วนั้นทำให้เกิดกระแส และปริมาณของสื่อสารสนเทศใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้พฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างงานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยลัย การสร้างฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ ตลอดถึงการรวบรวมเอกสารสื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้มาจัดเก็บไว้ในแหล่งเดียวกัน ได้ตระหนักถึงเหตุผลดังกล่าวจึงต้องมีกระบวนการการผลิตและการพัฒนารูปแบบของสื่อใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ได้เข้าถึงสารสนเทศได้ง่ายและสะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะสื่อสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้จากอุปกรณ์หลาย ๆ ประเภทให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม จากปัญหาและความสำคัญดังกล่าวผู้พัฒนาจึงได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-BOOK) : สารสนเทศท้องถิ่นภาคใต้ ตามกระบวนของการจัดการสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป