ประวัติจังหวัดราชบุรี


จังหวัดราชบุรีมีชื่ออันเป็นมงคลยิ่ง หมายถึง "เมืองพระราชา”  ราชบุรีเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของประเทศไทย จากการศึกษาและขุดค้นของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี พบว่าดินแดนแถบลุ่มน้ำแม่กลองแห่งนี้เป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคนหลายยุคหลายสมัย และมีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต จากหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายที่ขุดพบ  อาทิเช่น ขวานหิน ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา ทำให้เชื่อได้ว่ามีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคหินกลาง อายุประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว พื้นที่ในเขตจังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณ และเป็นเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ในสมัยประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจากการเดินเรือ และการติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับอินเดีย มีการขยายตัวมากขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา ชาวอินเดียได้เข้ามาทำการค้า และตั้งหลักแหล่งอยู่กับชาวพื้นเมือง ในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความอุดมสมบูรณ์จนได้ชื่อว่า สุวรรณภูมิ หรือสุวรรณทวีป ได้นำเอาวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาเผยแพร่ ทำให้คาบสมุทรอินโดจีนกลายเป็นทางผ่าน และจุดแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างชาวตะวันตก อันได้แก่ อินเดีย ลังกา อาหรับ เปอร์เซีย กรีก โรมัน กับชาวตะวันออก ได้แก่จีนและประชาชนตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ในเขตทะเลจีนใต้

ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 ชนชาวพื้นเมืองบริเวณตอนล่างของคาบสมุทรอินโดจีน ได้รวมตัวกันก่อตั้งแคว้นฟูนันขึ้น   เมื่อล่วงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 8 - 9 จึงเริ่มมีศูนย์การค้าแห่งใหม่ ในดินแดนลุ่มแม่น้ำท่าจีนทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงชุมชนจากสังคมหมู่บ้านไปสู่สังคมเมือง ในพุทธศตวรรษที่ 10 - 11 ภายใต้แม่แบบจากอารยธรรมอินเดีย เกิดกลุ่มวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ระยะแรกขึ้นในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 15 ที่เรียกชื่อว่า ทวาราวดี ในส่วนของจังหวัดราชบุรีคือ เมืองโบราณคูบัว ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 ได้มีวัฒนธรรมเขมรจากประเทศกัมพูชา แพร่ขยายเข้ามาแทนที่

ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ได้พบหลักฐานทางโบราณคดี เนื่องในวัฒนธรรมทวาราวดี กระจายอยู่ทั่วไปตามสองฟากฝั่งแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอวัดเพลง และอำเภอบ้านโป่ง แหล่งโบราณคดีที่สำคัญได้แก่



เมืองบ้านคูบัว อยู่ในเขตตำบลคูบัว อำเภอเมือง ฯ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน กว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 2,000 เมตร ขนาดของพื้นที่และลักษณะการวางผังเมืองคล้ายคลึงกันกับเมืองโบราณนครชัยศรี หรือนครปฐมโบราณ จากร่องรอยของหอยทะเลหลายชนิดในชั้นดินแสดงว่า เมืองโบราณคูบัวตั้งอยู่ใกล้ทะเลเป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลเคยท่วมถึงอยู่หลายแห่ง

สภาพเมืองโบราณคูบัวมีลักษณะเป็นเนินดินธรรมชาติสูงประมาณ 5 เมตร จากระดับน้ำทะเล และสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 1-2 เมตร มีคูน้ำ 1 ชั้น และคันดิน 2 ชั้นล้อมรอบ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลาดสูงขึ้นไปจนต่อเนื่องกับเนินเขาด้านทิศตะวันตก ส่วนริมของที่ราบลาดสู่ฝั่งทะเล ด้านเหนือติดต่อกับลำห้วยคูบัวที่ถูกดัดแปลงให้เป็นคูเมือง ด้านทิศใต้เป็นพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง ด้านทิศตะวันออกมีแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำแม่กลองสายเก่า ด้านทิศตะวันตกมีลำห้วยชินสีห์ ที่แยกจากลำห้วยคูบัวเป็นคูเมือง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏร่องรอยแม่น้ำใหญ่ที่เรียกกันว่า อู่เรือ มีลำรางเป็นแนวไปสู่แม่น้ำอ้อมทางทิศตะวันออก ต่อมาจนถึงบริเวณกลางเมืองโบราณ สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นท่าจอดเรือสมัยโบราณ  

โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบ มีทั้งที่ทำขึ้นเนื่องในความเชื่อในทางศาสนา และที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับโบราณวัตถุที่ทำขึ้นจากความเชื่อทางศาสนา นอกจากจะเป็นประติมากรรมดินเผา และปูนปั้นประดับอาคารโบราณสถานแล้ว ยังพบพระพุทธรูปที่ทำด้วยดินเผา และปูนปั้นอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีฐานเป็นรูปดอกบัวรองรับพระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระในปางปฐมเทศนา ในขณะที่พระพิมพ์ทำขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศบุญกุศลในการสืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ปางมารวิชัย หรือปางปฐมเทศนา ภายในซุ้มเรือนแก้วหรือซุ้มแบบพุทธคยา และเป็นพระพุทธรูปแดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี พระพิมพ์บางชิ้นมีคาถา เย ธมฺมา ภาษาบาลีจารึกอยู่ด้านหลัง นอกจากนั้นได้พบพระพิมพ์ที่สลักจากหินชนวนสีขาว เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิภายใต้พระกลด หรือฉัตร ด้านข้างขนาบด้วยพระสถูป และธรรมจักรที่ตั้งอยู่บนเสา เป็นพระพิมพ์ในวัฒนธรรมทวาราวดีที่หายากที่สุดชิ้นหนึ่งของไทย นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนพระธรรมจักรที่สลักจากหินอีกด้วย