สาระหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ
หลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ ระดับประถมศึกษา

1.      ความเป็นมาของหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 ได้ร่วมกับวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่ จัดทำหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ ในทุกระดับการศึกษา
ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียน มีความรู้ ความเข้าใจหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปูชนียสถานพระบรมธาตุในท้องถิ่น การตั้งเมืองกับการสร้างพระธาตุช่อแฮ เป็นต้น ซึ่งวัดพระธาตุช่อแฮ ถือได้ว่าเป็นวัดอันศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาลและบุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการ
พระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่

       วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 11 ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 8 กิโลเมตร ในบริเวณวัดประดิษฐานพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ และเป็นหนึ่งในพระธาตุประจำปีเกิดสิบสองราศีตามตำนานล้านนา คือ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล (ปีเสือ)
พระธาตุช่อแฮ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผัง 8 เหลี่ยมสูง 33 เมตร ฐานตอนล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยม ขนาด 11x 11 เมตร รับฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน
2 ชั้น ประวัติการสร้างวัดพระธาตุช่อแฮนั้น ไม่ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากตำนานพระเจ้าเลียบโลกกล่าวว่าสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ดอยโกสิยะแห่งนี้ และได้มอบพระเกศาให้กับ ขุนลัวะอ้ายก้อมหัวหน้าชุมชนในยุคนั้น ซึ่งได้นำมาใส่ในท้องสิงห์ทองคำบรรจุไว้ในถ้ำใต้องค์พระธาตุแห่งนี้เพื่อไว้เป็นที่เคารพสักการะสืบมา

ด้านประวัติศาสตร์ ปรากฎหลักฐานของพระธาตุช่อแฮในสมัยกรุงสุโขทัย ระหว่าง พ.ศ.1874 - 1881 ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา สิไทขณะดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ปกครองเมืองศรีสัชนาลัยได้เสด็จมาสักการะพระธาตุช่อแฮ ต่อมาใน พ.ศ.1902 ได้เสด็จมาปฏิสังชรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ และขนานนามภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้งองค์พระธาตุว่า
"โกสิยธคคปัพพเต"หรือ "โกสัยธชัคคบรรพต"จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน 7 คืน ต่อมาพระธาตุนี้จึงได้ชื่อว่า "พระธาตุช่อแฮ" (สันนิษฐาน คำว่า"ช่อแฮ" เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า
"ช่อแพร" ซึ่งเป็นผ้าที่ใช้สักการะโดยนำมาห่มองค์พระธาตุ)พ.ศ. 2312 องค์พระธาตุช่อแฮได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งโดยนักบุญแห่งล้านนาไทยคนเมืองแพร่เรียกนามท่านว่า
ครูบาศีลธรรม หรือที่รู้จักกันดีคือครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา

       เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมและสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่เพื่อเล่าขานสืบต่อลูกหลาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 จึงจัดทำหลักสูตรวัดพระธาตุช่อแฮ ระดับประถมศึกษา ให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 นำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สถานที่สำคัญในจังหวัดแพร่และวัฒธรรมท้องถิ่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 ในฐานะองค์กรรับผิดชอบการจัดการศึกษาให้แก่ นักเรียนระดับประถมศึกษา
จึงได้จัดทำหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ ระดับประถมศึกษา ประกอบด้วยเนื้อหา 4 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) ประวัติวัดพระธาตุช่อแฮ 2) สถานที่สำคัญในวัดพระธาตุช่อแฮ
3) ประวัติความเป็นมาของประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่ แห่ตุงหลวง 4) ความเชื่อ


โดยมีคณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงาน ด้านการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ ระดับประถมศึกษาจากทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำเนินการจัดทำหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ นำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สถานที่สำคัญในจังหวัดแพร่ ทั้งนี้ เป็นการสร้างพลเมืองที่ดี มีความรักในท้องถิ่น และประเพณีสำคัญที่สืบทอดต่อกันมา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ ระดับประถมศึกษา จะสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะให้แก่ผู้เรียนในเรื่องแหล่งเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพระธาตุช่อแฮ และประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่ สร้างจิตสำนึกในการการอนุรักษ์สถานที่สำคัญในจังหวัดแพร่และวัฒนธรรมท้องถิ่น 

       การจัดการเรียนรู้หลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ เน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning หรือเทคนิค 5 STEPs เริ่มจาก 1. การตั้งคำถาม 2. การแสวงหาความรู้สารสนเทศ 3. สร้างองค์ความรู้ 4. เรียนรู้เพื่อการสื่อสาร และ5. การตอบแทนสังคม นำความรู้ไปเผยแพร่ มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้
ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงผ่านสื่อหรือกิจกรรมการเรียนรู้ ที่มีครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำ กระตุ้นหรืออำนวยความสะดวก
ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูง การทำกรณีศึกษา การเรียนรู้จากแหล่งเรียนในท้องถิ่น การเรียนรู้จากสื่อของจริงที่มีอยู่ในโรงเรียน และชุมชนผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยโครงงาน โดยใช้สมองเป็นฐาน เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์
การระดมสมอง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นทักษะที่สร้างเสริมความเข้าใจที่คงทนของนักเรียนซึ่งเป็นผลลัพธ์ปลายทางที่ต้องการให้เกิดตามหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ

       สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 ขอขอบคุณวัดพระธาตุช่อแฮ และจังหวัดแพร่ที่ได้สนับสนุนการยกร่างสร้างหลักสูตร จัดทำและรวบรวมหลักสูตรตำนาน
พระธาตุช่อแฮ และหวังว่าหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮนี้ จะเป็นประโยชน์แก่สถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียนในจังหวัดแพร่ นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้เกิดประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับคำขวัญจังหวัดแพร่ หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงามต่อไป


2.จุดมุ่งหมายในการจัดทำหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ

2.1 เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครู มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ

2.2 เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถบริหารจัดการหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.3 เพื่อให้ครูสามารถนําหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

 

3.เป้าหมายในการใช้หลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่

3.1 ผู้บริหารสถานศึกษาและครู มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ

3.2 ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถนําความรู้ไปใช้ในการบริหารจัดการหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮในสถานศึกษาได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

3.3 ครูผู้สอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนนําหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้



4.เรียนรู้อะไรในหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่

หลักสูตรหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ ประกอบด้วย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 หน่วยการเรียนรู้ได้แก่ 1) ประวัติวัดพระธาตุช่อแฮ 

2) สถานที่สำคัญในวัดพระธาตุช่อแฮ 3) ประวัติความเป็นมาของประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่ แห่ตุงหลวง 4) ความเชื่อ โดยเริ่มจัดการเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นปฐมวัย 

จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ กระบวนการมีสมรรถนะสำคัญ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังสิ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ในหลักสูตรพระธาตุช่อแฮ ได้แก่

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ประวัติวัดพระธาตุช่อแฮ

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 สถานที่สำคัญในวัดพระธาตุช่อแฮ

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ประวัติความเป็นมาของประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่ แห่ตุงหลวง

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 ความเชื่อ

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่ เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็น วัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ
ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่

       การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่
เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต (กวีรัตน์) หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่ อยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่

อาณาเขตวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่

·         ทิศเหนือ     ติดต่อ หมู่บ้าน หมู่ที่ 11 บ้านพระธาตุช่อแฮ

·         ทิศใต้           ติดต่อ หมู่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านสุวรรณาราม

·         ทิศตะวันออก    ติดต่อ หมู่บ้าน หมู่ที่ 6 บ้านใน

สาระหลักสูตรตำนานพระธาตุช่อแฮ

“พระธาตุช่อแฮ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองแพร่และเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีขาล ซึ่งตามมติความเชื่อเรื่องไหว้ “พระธาตุประจำปีเกิด” ของล้านนาโบราณ เชื่อว่าคนที่เกิดปีขาลเมื่อมาไหว้พระธาตุช่อแฮจะได้รับอานิสงส์ผลบุญที่สูงล้น ดังนั้นหากใครที่เดินทางมาเยือนเมืองแพร่ ต้องหาเวลาไปนมัสการองค์พระธาตุ  ช่อแฮ เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเอง
และครอบครัว

“พระธาตุช่อแฮ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองแพร่และเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีขาล ซึ่งตามมติความเชื่อเรื่องไหว้”พระธาตุประจำปีเกิด” ของล้านนาโบราณ เชื่อว่าคนที่เกิดปีขาลเมื่อมาไหว้พระธาตุช่อแฮจะได้รับอานิสงส์ผลบุญที่สูงล้น ความเป็นมาของพระธาตุองค์นี้ว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่) พระองค์ได้มาประทับ
ณ บริเวณดอยโกสัยธชัคคะบรรพต ขณะนั้นมีเจ้าลาวนามว่า “ขุนลัวะอ้ายก้อม” ได้มากราบไหว้พระพุทธเจ้า จากนั้นพระพุทธเจ้าได้แสดงอิทธิปาฎิหารย์ให้ขุนลัวะอ้ายก้อมเห็นเนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับตั้งเป็นที่ไว้ในพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุ โดยเอาเส้นพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลัวะอ้ายก้อมไว้ และทรงสั่งว่า
เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ให้เอาพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ และต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่า “เมืองแพร่”ดังนั้นหากใครที่เดินทางมาเยือนเมืองแพร่
ต้องหาเวลาไปนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว

ตำนานพระธาตุช่อแฮจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ของทางวัดพระธาตุช่อแฮ

       ตำนานพระธาตุช่อแฮอีกทางหนึ่ง กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าได้เสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่) ประทับ ณ ดอยโกสัยธชัคคะบรรพต ขณะนั้นมีหัวหน้าชาวลัวะนามว่าขุนลัวะอ้ายก้อมได้มากราบไหว้พระพุทธเจ้าที่บนดอยนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ขุนลัวะอ้ายก้อมเห็น เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่ร่มรื่นเหมาะสมที่จะตั้งเป็นสถานที่ไว้ในพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุที่ระลึกโดยเอาเส้นพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลัวะอ้ายก้อมไว้ มีรับสั่งให้เอาเส้นพระเกศานี้ไปไว้ในถ้ำที่อยู่ใกล้บริเวณนี้
พระองค์มีรับสั่งอีกว่าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ให้เอาพระบรมสารีริกธาตุพระศอกข้างซ้ายมาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้และต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่าเมืองแพร่ โดยเป็นเมืองใหญ่ซึ่งพระองค์เคยเสด็จประทับนั่ง ณ ใต้ต้นหมากนี้ เมื่อทรงทำนายแล้วก็เสด็จจาริกไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ทรงเห็นว่าควรจะเป็นที่ตั้งพระธาตุได้ จากนั้นจึงเสด็จกลับไปยังพระเชตวันอารามและหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี ตรงกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์ทั้งปวงได้ร่วมกันอธิษฐานว่าเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เคยเสด็จไปยังถิ่นฐานบ้านเมืองหลายแห่ง แล้วทรงหมายสถานที่ที่ควรจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ จึงขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ที่ได้บรรจุในโกศที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตอยู่ในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้นั้นเถิด เมื่ออธิษฐานแล้วพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายก็เสด็จออกจากโกศโดยทางอากาศไปตั้งอยู่ที่
แห่งนั้น ๆ ทุกแห่ง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุเหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุในพระเจดีย์ 84,000 องค์นั้น แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่า
จะหมดอายุแห่งพระพุทธศาสนา 5,000 พระวัสสา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม
พ.ศ. 2478ละได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2523

       สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮ นั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนาที่ชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก้อมนำมาถวาย
ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม)

       ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า พลนคร,เมืองพล หรือ เวียงโกศัย นั้นกล่าวว่า ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่างปี พ.ศ.1470 – 1560 พระนางจามเทวีเข้าครอบครองแคว้นล้านนาได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองพลนครเป็น “โกศัยนคร” หรือ “เวียงโกศัย” ซึ่งแปลว่า “ผ้าแพร” นับแต่นั้นมาก็มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาล
ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเจ้าพิริยะชัยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์ที่ 18 เป็นเจ้าหลวงกำกับด้วยข้าหลวงซึ่งโปรดเกล้าฯให้พระยาไชยบูรณ์
เป็นข้าหลวงองค์แรกต่อมาในปี พ.ศ.2445 พวกเงี้ยวได้ก่อการกบฏขึ้นโดยยึดสถานีตำรวจ ศาลากลาง ปล้นเงินคลังและปล่อยนักโทษออกจากคุก พระยาไชยบูรณ์ถูกพวกเงี้ยวจับตัว
และถูกบังคับให้ยกเมืองให้ แต่พระยาไชยบูรณ์ไม่ยินยอมจึงถูกจับประหารชีวิต เมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงเข้าปราบปรามพวกเงี้ยวจนราบคาบ เจ้าพิริยะชัยเทพวงศ์ เกรงพระราชอาญาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2452 นับแต่นั้นมาก็ไม่มีเจ้าผู้ครองนครแพร่อีกเลย

       ปัจจุบันเมืองแพร่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเมืองที่การท่องเที่ยวคึกคักมากนัก แต่ด้วยเป็นเมืองที่มีธรรมชาติขุนเขาป่าไม้เขียวขจี เมื่อรวมกับศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ที่คนเมืองแพร่
ยึดถือปฏิบัติจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบแล้ว จึงเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเมืองแห่งนี้มักยิ่งขึ้น

วัดพระธาตุช่อแฮ เลี้ยงเจ้าพ่อขุนลัวะอ้ายก้อม เพื่อสืบสานประเพณีและเพื่อความเป็นสิริมงคล

       เมื่อวันที่ 7 มี.ค.65 เวลา 09.39 น. ที่หออารักษ์ เจ้าพ่อขุนลัวะอ้ายก้อม พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง
พระครูบัณฑิตเจติยานุการ พระครูภาวนาเจติยานุกิจ ผู้ช่วยผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่จัดพิธีเลี้ยงเจ้าพ่อขุนลัวะอ้ายก้อม ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน
ก่อนที่งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวงจะเริ่มขึ้น เพื่อบอกกล่าวและขอให้คุ้มครองในการจัดงานเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยมีชาวบ้านมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

       สำหรับเจ้าพ่อขุนลัวะอ้ายก้อม ตามหนังสือตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่าสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ดอยโกสิยะแห่งนี้(วัดพระธาตุช่อแฮ) และได้มอบพระเกศาให้กับ ขุนลัวะอ้ายก้อม ขุนลัวะอ้ายก้อมได้นำมาใส่ในท้องสิงห์ทองคำบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮ เพื่อไว้เป็นที่เคารพสักการะสืบมา

แหล่งที่มา  https://www.chiangmainews.co.th/newsies/1952425/

พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีขาล

พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีเกิดปีเสือ (ปีขาล) พระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ราศี คือ เป็นพระธาตุประจำปีเกิด สำหรับคน ที่เกิดปีเสือ (ปีขาล) หากนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ การสวดและไหว้ ให้เริ่มต้นนะโม 3 จบ แล้วสวดตามด้วยคาถาบูชาพระธาตุ 5 จบ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
พระธาตุช่อแฮ หมายถึง เจดีย์บรรจุพระบรม สารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดับบูชาด้วยผ้าแพรอย่างดี


แหล่งเรียนรู้ในพระธาตุช่อแฮ

พระธาตุช่อแฮ : พระธาตุประจำปีเกิดปีเสือ (ปีขาล) พระธาตุช่อแฮ หมายถึง เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การสวดและไหว้ให้เริ่มต้นนะโม 3 จบ แล้วสวดตามด้วยคาถาบูชาพระธาตุ 5 จบ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

หลวงพ่อช่อแฮ : เป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว มีอายุหลายร้อยปี

พระพุทธโลกนาถบพิตร : เป็นพระพุทธรูปสำริดปางนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะลานนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในปี 2534

หลวงพ่อทันใจ หรือพระเจ้าทันใจ :   พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใครมาขอพรแล้ว จะได้สิ่งนั้นอย่างสมประสงค์

พระพุทธเจดีย์โกศัย : เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองจังโก ศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย มีทั้งหมด 3 องค์ มีจารึกใต้ฐานพระพุทธรูป ชื่อ พระพุทธเจดีย์โกศัย ทั้งสามองค์มีขนาดต่างกัน

ระฆังโบราณ : เป็นระฆังหล่อด้วยทองจังโก ที่เหลือจากการหล่อ พระพุทธเจดีย์โกศัย สูง ๖๖ เซนติเมตร กว้าง 46 เซนติเมตร หล่อโดยครูบาชัยลังกา วัดพระหลวง (ธาตุเนิ้ง)
อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นศิลปะล้านนา

กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย : บรรจุอัฐิธาตุส่วนที่ 5 จากจำนวน 7 ส่วนของครูบาศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกบุญคุณที่ท่านได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา

บันไดกุมภัณฑ์ : เป็นบันไดทางขึ้นด้านหน้าวัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งอยู่ทิศตะวันออก มีบันไดทั้งหมด 78 ขั้น ลักษณะของราวบันไดเป็นรูปปั้นพญานาค 5 เศียร หางของพญานาคมีกุมภัณฑ์นั่งทับอยู่ทั้ง 2 ข้าง เชื่อว่ามียักษ์กุมภัณฑ์ทับไว้ไม่ให้นาคแอบไปเล่นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ วัด

บันไดนาค : ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ในอดีตเป็นบันไดขึ้นด้านหลังองค์พระธาตุช่อแฮ อยู่ติดศาลาพระนอน มีพญานาคเฝ้าบันไดอยู่ข้างละ 2 ตัว คาบซ้อนกันมีขั้นบันไดจำนวน 119 ขั้น ภายหลังได้กลายมาเป็นบันไดทางขึ้นหลักของวัด

บันไดสิงห์ : ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกด้านหน้าองค์พระธาตุขนานกับบันไดนาค โดยติดอยู่กับถนนช่อแฮ มีรูปปั้นสิงห์ข้างละ 2 ตัว และมีรูปปั้นเสืออยู่ข้างๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิด ปีชาล (เสือ) มีขั้นบันไดจำนวน 94 ขั้น

บันไดนาคขด : ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด ราวบันไดเป็นรูปปั้นพญานาค 5 เศียร มีขั้นบันได จำนวน 44 ขั้น

บันไดสุระอ้ายก้อม : ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ลักษณะเป็นบันไดนาค 5 เศียร สีขาว มีขั้นบันได จำนวน 44 ขั้น ซึ่งเป็นบันไดที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากสะดวกในการจอดรถ และมีช่วงสั้นที่สุด

สวนรุกขชาติช่อแฮ : ตั้งอยู่ที่ดินของวัด มีพื้นที่ 52 ไร่ เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาพันธุ์ไม้ มีต้นไม้นานาพันธุ์กว่า 1,000 ชนิด

ต้นหมาก : หมากจัดเป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม มีความสูงของต้นประมาณ 10 – 15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก
มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 – 15 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นรอยขวั้นรอบๆ ขึ้นไปตลอดลำต้น

ต้นสะแก (ต้นจองแข้) : จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงของต้นประมาณ 5 - 10 เมตร เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทานวล ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่มุม ส่วนต่างๆ ของลำต้นมีขนเป็นเกล็ดกลมๆ

ต้นสัก : เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ที่มีความสูงของต้นตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร มีลำต้นตรง เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมค่อนข้างทึบ เปลือกต้นหนา
เป็นเทา หรือสีน้ำตาลอ่อนแกมเทา เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามความยาวของลำต้น

ต้นประดู่ป่า : ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 – 30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ เปลือกนอกสีน้ำตาลดำ หนา แตกสะเก็ด เปลือกในสีน้ำตาล มีน้ำเลี้ยงสีแดง เนื้อไม้แข็งสีแดงอมเหลือง มีลวดลายสวยงาม

ต้นมะค่าโมง : เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ และนิยมนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เนื่องจากเนื้อไม้มีความแข็งแรง ทนทาน และมีสีสันที่สวยงาม

ต้นยมหิน : เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดแพร่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี  พันปีหลวง พระราชทานเพื่อปลูกเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด ต้นยมหิน
มีความสูง 15 - 25 เมตร เปลือกมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ เพื่อลำต้นมีอายุเพิ่มขึ้น เปลือกในสีแดงออกน้ำตาลชมพู แก่นไม้มีสีเหลืองเข้มถึงน้ำตาลแดง

ต้นตะแบก :  เป็นต้นไม้ผลัดใบ 15 – 30 เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อยใบอ่อนสีแดง    มีขนสั้นอ่อนนุ่มปกคลุม ใบแก่ขนจะหลุดหายไป แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 5 – 7 เซนติเมตร      ยาว 12 – 20 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนสอบ ดอกสีม่วงอมชมพูต่อมาเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือเกือบขาว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผล รูปรี ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร

ต้นเสลา : เป็นต้นไม้ที่มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยมีความสูงประมาณ 10 - 20 เมตร และเป็นไม้ผลัดใบมีเรือนยอดเป็นพุ่มแน่น กิ่งห้อยย้อย ลำต้นกลม แข็งแรง
ในระดับหนึ่ง เปลือกมีสีเทาแกมดำ มีรอยแตกเป็นริ้วยาวตลอดลำต้น