การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ความเป็นมา

การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา หมายถึง การดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในภาคการศึกษาทุกระดับ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันและการปฏิบัติภารกิจ เช่น การบริหารการศึกษา การบริหารจัดการงบประมาณการศึกษา การจัดสถานศึกษา การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การจัดกิจกรรมนักเรียน เป็นต้น เพื่อที่ท้ายที่สุดแล้วเกิดกระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีปฏิบัติ จนเป็นวิถีชีวิต เพื่อผลให้เกิดการปลูกฝังและบ่มเพาะผู้เรียน เด็ก และเยาวชน ให้มีจิตสำนึกและอุปนิสัย “พอเพียง” (Sufficiency Mindset and Behavior) เพื่อจะได้สามารถดำรงตน และดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน เนื่องมาจากกระแสพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ปวงชนชาวไทยได้เริ่มรับรู้และเรียนรู้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ความตอนหนึ่งว่า

“...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อยถ้าทุกประเทศมีความคิด ‘อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ’ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า
พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง
ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณ และความมีเหตุผล...”

จึงเป็นที่มาของความเข้าใจว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ทุกคน ทุกประเทศสามารถนำไปใช้ในทุกกิจกรรม ทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับ เพื่อให้เกิดการ
พัฒนาที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา


เริ่มมาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ได้น้อมนำเนื้อหาเกี่ยวกับ “หลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”ตามคำนิยามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เข้าสู่หลักสูตร โดยระบุไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ของสาระการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระเศรษฐศาสตร์ กำหนดให้นักเรียนทุกระดับชั้น เมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตรนี้แล้ว จะต้องเข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตและการบริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ ส่งผลให้เกิดการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างแพร่หลายในโรงเรียนทั่วไป


แต่ก็พบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้องชัดเจน เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการศึกษา เนื่องจากการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ดังกล่าว มักมุ่งเน้นที่กิจกรรมเกษตร การปลูกพืชผักสวนครัวในโรงเรียน หรือกิจกรรมการออมทรัพย์ เป็นส่วนมาก แต่ยังไม่ได้มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นหลักคิด หลักปฏิบัติในการประพฤติตน และการทำกิจกรรมต่างๆ ตามมาตรฐานตัวชี้วัดในหลักสูตรการศึกษามุ่งหวังให้เกิดขึ้น

ใน ปี พ.ศ. 2549 คณะทำงานขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำตัวอย่างแผนการจัดการเรียนการสอนสำหรับครูที่สอนแต่ละสาระการเรียนรู้ และระดับชั้นต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษา โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และครูจากทั่วประเทศร่วมกันทำงาน จนได้กรอบเนื้อหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ของแต่ละช่วงชั้น และตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทุกระดับชั้น และทุกสาระการเรียนรู้ โดยเผยแพร่ไปทั่วประเทศเมื่อต้นปี พ.ศ. 2550

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ให้มีความชัดเจนในเป้าหมายและคุณภาพของผู้เรียน และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งได้กำหนด 1 ใน 5 เป้าหมายของหลักสูตร คือ “การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ มีวินัย และปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Character) หรือจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน 8 ประการ ได้แก่ รักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ การกำหนดมาตรฐานตัวชี้วัดในหลักสูตร พ.ศ. 2551 จึงเป็นไปในทิศทางการปลูกฝังและบ่มเพาะผู้เรียนให้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการคิด การวางแผน และการปฏิบัติตน พร้อมกับคุณลักษณะอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21