ข้อมูลทั่วไป
ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนนันทบุรีวิทยา เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสงเคราะห์เด็กที่ไม่มีที่เรียนและเด็กที่มีฐานะยากจน ตั้งขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๐๖ โดยตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร มีเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นผู้รับใบอนุญาต เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ (ม.ศ. ๓) รับเฉพาะนักเรียนชาย ในปี ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๑๒ ได้ขออนุญาตเป็นโรงเรียนสหศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน พุทธศักราช ๒๕๑๖ นายคำรพ นุชนิยม ผู้จัดการ/ครูใหญ่ และนายวิเชียร วชิรพาหุ กรรมการการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน ได้เสนอให้โรงเรียนนันทบุรีวิทยา เข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนนันทบุรีวิทยาไว้ในโครงการ ตามสำเนาหนังสือสำนักพระราชวังที่ พว. ๐๐๐๑/๔๔๗๓ ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๖ หลังจากที่โรงเรียนเข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว โรงเรียนได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ และได้รับการช่วยเหลือจากราชการ ดังนี้
พุทธศักราช ๒๕๑๘ ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) ได้รับงบประมาณจากทางราชการ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) และประชาชนบริจาคสมทบอีก จำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท (สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๒๘๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนแปดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ได้จัดสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๙๐ เมตร สูง ๒ ชั้น จำนวน ๒๐ ห้องเรียนและได้รับพระราชทานนามอาคารนี้ว่า “ตึกราชเมตตา” ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
พุทธศักราช ๒๕๓๔ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๕,๕๔๔,๐๐๐ บาท (ห้าล้านห้าแสนสี่หมื่นสี่พันบาทถ้วน) สร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบ สปช. ๒/๒๘ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๔๘ เมตร สูง ๓ ชั้น จำนวน ๑๘ ห้องเรียน คือ “ตึกราชกรุณา” ในปัจจุบัน
พุทธศักราช ๒๕๓๕ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์และ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ จำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
พุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านแปดแสนบาทถ้วน) สำหรับสร้างอาคารโรงฝึกงาน กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สูง ๒ ชั้น จำนวน ๔ ห้องเรียน คือ (ตึกราชมุทิตา) ในปัจจุบัน
พุทธศักราช ๒๕๓๗ นายสุจริต นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่า สถานที่บริเวณวัดพระธาตุช้างค้ำฯ คับแคบไม่สามารถสร้างอาคารเรียนได้อีก จึงได้จัดสรรงบพัฒนาจังหวัดให้จำนวน ๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท (เก้าล้านสามแสนบาทถ้วน) เพื่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๓ ชั้น จำนวน ๑๘ ห้องเรียน โดยให้ก่อสร้างไว้ที่วัดสวนตาล อาคารหลังนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชนามอาคารว่า ตึก กว. และ เสด็จมาเป็นประธานในการเปิดป้ายอาคารเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๙
พุทธศักราช ๒๕๓๘ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดตั้งมูลนิธิโรงเรียนนันทบุรีวิทยา เพื่อนำดอกผลมาใช้ในกิจการของโรงเรียนและช่วยเหลือนักเรียนยากจน จำนวน ๑๑,๐๑๖,๘๙๘ บาท (สิบเอ็ดล้านหนึ่งหมื่นหกพันแปดร้อยเก้าสิบแปดบาทถ้วน )
พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) จัดสร้างห้องมัลติมีเดีย
พุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้รับงบประมาณจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน ๑๐ เครื่อง รวมเป็นเงิน ๔๗๓,๐๐๐ บาท (สี่แสนเจ็ดหมื่นสามพันบาทถ้วน)
พุทธศักราช ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์สมทบ มูลนิธิโรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน ๑๒,๘๒๔,๐๓๒.๙๘ บาท (สิบสองล้านแปดแสนสองหมื่นสี่พันสามสิบสองบาทเก้าสิบแปดสตางค์)
พุทธศักราช ๒๕๔๕ ได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ก่อสร้างอาคารเรียน คสล. ขนาด ๑๘ ห้องเรียน แบบ ๓๑๘ล/๓๐ ตามแบบกรมสามัญศึกษา เป็นเงิน ๑๐,๕๔๕,๖๐๐ บาท (สิบล้านห้าแสนสี่หมื่นห้าพันหกร้อยบาทถ้วน)โรงเรียนสมทบอีก ๑,๗๑๑,๗๐๐ บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยบาทถ้วน) โรงเรียนจึงจัดหาซื้อที่ดิน จำนวน ๑๔ ไร่ งบประมาณ ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านบาทถ้วน) ที่บ้านปางค่า ต. ไชยสถาน อ.เมืองน่าน และได้สร้างอาคารเรียนขึ้นในที่ดินแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นห้องเรียนเขตปางค่า
พุทธศักราช ๒๕๔๖ ได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในการปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารเรียน “ ตึกราชเมตตา ” จำนวน ๑,๖๙๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านหกแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) และโรงเรียนสมทบ ๑,๓๓๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสามแสนสามหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๐๒๐,๐๐๐ บาท (สามล้านสองหมื่นบาทถ้วน)
พุทธศักราช ๒๕๔๖ โรงเรียนได้จัดหางบประมาณก่อสร้างอาคารที่พักที่เขตปางค่า สำหรับนักเรียนหญิงที่บิดามารดาเสียชีวิต บิดามารดาหย่าร้าง นักเรียนยากจน นักเรียนชาวเขา และมีภูมิลำเนาอยู่ต่างอำเภอ ซึ่งในขณะนั้นนักเรียนกลุ่มดังกล่าวคณะครูได้ให้การช่วยเหลือโดยเช่าหอพักให้ โดยสร้างเป็นอาคารไม้ ๓ ชั้น ๘ ห้อง เป็นเงินจำนวน ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านห้าแสนบาทถ้วน)
๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์พระองค์เพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนนันทบุรีวิทยา ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่าทรงห่วงงานด้านบริหารการจัดการโรงเรียน และทรงปลูกต้นจำปีสิรินธร
พุทธศักราช ๒๕๔๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามอาคารที่สร้างขึ้น ที่เขตปางค่าว่า “อาคารสิรินธร” และเสด็จเปิดป้ายอาคาร “สิรินธร” ในวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเยี่ยมโรงเรียน พระองค์ทรงห่วงใยนักเรียน พระองค์จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งเกี่ยวกับการสร้างหอพักนักเรียนในโรงเรียน โรงเรียนจึงได้ของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ก่อสร้างหอพักนักเรียนหญิงเพิ่มขึ้นที่เขตปางค่า ในพื้นที่ใกล้กับหอพักเดิม เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้นโล่ง ซึ่งหอพักนักเรียนหญิงดังกล่าวอยู่ในโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และใช้ชื่อว่า “หอพักหญิงดรุณรักษ์”
พุทธศักราช ๒๕๕๓ สำนักงานจังหวัดน่าน ได้จัดหางบประมาณจำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านห้าแสนบาทถ้วน) จัดซื้อที่ดิน จำนวน ๙ ไร่ ๙๖ ตารางวา มอบให้แก่ทางโรงเรียนเพื่อดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พุทธศักราช ๒๕๕๔ สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนแบบอาคาร ๓๑๘ ล/พิเศษ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบล้านบาทถ้วน) ซึ่งโรงเรียนสมทบอีกจำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านห้าแสนบาทถ้วน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สิบสี่ล้านห้าแสนบาทถ้วน) และได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๕ โรงเรียนจึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามอาคารนี้ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “อาคารเทพรัตน์”
พุทธศักราช ๒๕๕๔ โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ได้ขอโอนโรงเรียนจากสังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๔๐๐๖/๕๒ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ และตามประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต ๑ เรื่อง รับโอนสถานศึกษาจากหน่วยงานอื่น ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๕
๒๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาโรงเรียนนันทบุรีวิทยา เพื่อทรงเปิดป้าย “อาคารเทพรัตน์”
ปัจจุบันมี นางสาวอัญรินทร์ ฉัตรโชติวรกิตติ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนนันทบุรีวิทยา
วิสัยทัศน์
"เป็นผู้นำด้านทักษะชีวิต ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"
ปรัชญาของโรงเรียน
"ความรู้ คู่คุณธรรม"
อัตลักษณ์
“จงรักภักดี มีหลักธรรมนำชีวิต”