ประวัติความเป็นมา

ในอดีตสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมีชื่อเรียกว่า  “ห้องสมุด” ซึ่งหลักฐานปรากฏในช่วงระยะเวลาประมาณก่อนปี พ.ศ. 2500 ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของอาคารเรียนชื่อ “อาคารสันติสุข” มีเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางเมตร มีบรรณารักษ์คนแรก คือ อาจารย์ไพเราะ สุวรรณแสน จำนวนหนังสือมีไม่มากนัก เพราะเริ่มจัดตั้งขึ้น

พ.ศ. 2500 วิทยาลัยครูนครราชสีมา ได้กำหนดให้ห้อง 128 อาคาร 1 (ถูกรื้อถอนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และใช้พื้นที่สร้างหอประชุมนานาชาติ) เป็นห้องสมุดมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 100 ตารางเมตร สถานที่บริการจะได้กว้างขวางขึ้น  หนังสือที่ให้บริการเป็นหนังสือทั่วไป บริการอยู่ภายในห้องเดียวกันหมด จัดว่าเป็นห้องสมุดในยุคแรก ๆ   มีอาจารย์ไพเราะ สุวรรณแสน ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายห้องสมุด

พ.ศ.2504 มีอาจารย์สุริยา รัตนจันทร์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายห้องสมุดพ.ศ. 2508 ได้ย้ายไปอยู่ที่อาคาร 2 (ห้อง 221) ซึ่งต่อมาจัดเป็นห้องปฏิบัติกิจกรรมนาฏศิลป์ ห้องสมุดช่วงนี้ขยายเป็น 3 ห้องเรียนติดต่อกันและดำเนินงานเต็มรูปแบบ มีอาจารย์สุมาลัย สุนทรพิทักษ์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องสมุด

พ.ศ. 2508 ได้ย้ายไปอยู่ที่อาคาร 2 (ห้อง 221) ซึ่งต่อมาจัดเป็นห้องปฏิบัติกิจกรรมนาฏศิลป์ ห้องสมุดช่วงนี้ขยายเป็น 3 ห้องเรียนติดต่อกันและดำเนินงานเต็มรูปแบบ มีอาจารย์สุมาลัย สุนทรพิทักษ์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องสมุด

พ.ศ.2509 –  พ.ศ.2511 มีอาจารย์สันทนา ทิพวงศา ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องสมุด 

พ.ศ. 2512 – พ.ศ.2513 มีอาจารย์สุริยา รัตนจันทร์ เป็นหัวหน้าแผนกหอสมุด และเริ่มให้บริการที่อาคารใหม่ (อาคารวิชาการ) เพราะสถานที่เดิมคับแคบ ในครั้งนี้ห้องสมุดขยายเป็น 6 ห้องเรียนติดต่อกัน และแยกห้องอ้างอิงออกไปอีก 1 ห้อง เนื้อที่ใช้สอยของห้องสมุดประมาณ 500 ตารางเมตร ผู้ที่ทำหน้าที่บรรณารักษ์มี 2 คน วัสดุที่ให้บริการมีแต่วัสดุตีพิมพ์ และเน้นทางด้านครุศาสตร์ เพราะตามหลักสูตรเปิดสอนเฉพาะวิชาชีพครู จำนวนหนังสือมี 40,000 เล่ม มีนักศึกษาเข้ามาช่วยงานห้องสมุดในรูปของชุมนุมห้องสมุดโดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นเงิน แต่จะได้รับเป็นคะแนนกิจกรรม นักศึกษาที่เข้ามาใช้ห้องสมุดมีมากขึ้นโดยเฉลี่ย เข้าใช้วันละประมาณ 500 คน เพราะมีนักศึกษาทั้งภาคปกติและภาคค่ำ (ป.กศ.สูง)

พ.ศ. 2514  ห้องสมุดอยู่ที่อาคาร 2 ชั้น 2 ห้อง 221 ปัจจุบันได้ทำการรื้อถอนไป เนื่องจากเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา บริเวณที่เป็นอาคาร 2 ในอดีต  ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณสวนหินแร่ ผู้บริหารสมัยนั้นคือ อาจารย์วิไลวรรณ เอื้อวิทยาสุพร รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยครูนครราชสีมา และทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายวิชาการ อาจารย์มนูญ วงศ์คำดี ซึ่งจบการศึกษาด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร แต่มีความรู้และประสบการณ์ในการฝึกงานห้องสมุด โดยเคยทำงานกับ อาจารย์วิชญ์ ทับเที่ยง อาจารย์สอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้มาช่วยดูแลเป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุด และต่อมาจึงย้ายจากหมวดสังคมศึกษาไปอยู่หมวดบรรณารักษ์ และปฏิบัติงานห้องสมุดพร้อมด้วยคนงานอีก 2 คน นักศึกษาที่มาใช้บริการเป็นนักศึกษาที่เรียนภาคปกติ และภาคค่ำ การบริการของห้องสมุดเปิดบริการเวลา 08.00 – 21.00 น. นักศึกษาส่วนใหญ่ไปใช้ห้องสมุดเพื่อค้นคว้าและทำรายงาน ห้องสมุดสมัยนั้นถือว่าเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ที่ทันสมัยที่สุด อาจารย์ที่มาใช้ส่วนใหญ่มาค้นคว้าเอกสารและเตรียมการสอน  เนื่องจากห่างไกลแหล่งค้นคว้าอื่น ทำให้ในแต่ละวันมีจำนวนอาจารย์และนักศึกษาไปใช้ห้องสมุดค่อนข้างมาก นอกจากนี้ตามหลักสูตรการเรียนการสอนยังกำหนดวิชาห้องสมุดเป็นวิชาบังคับ(บร.101) และนักศึกษาต้องมาฝึกงาน งบประมาณที่ได้รับประมาณ 20,000-30,000 บาทต่อปี  ดำเนินการจัดซื้อวัสดุโดยฝ่ายพัสดุ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสาร

พ.ศ.2515 อาจารย์สุรศักดิ์ สังฆมานนท์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายห้องสมุด 

พ.ศ.2516 – พ.ศ.2536 วิทยาลัยครูนครราชสีมาได้รับงบประมาณในการสร้างอาคารห้องสมุดเป็นอาคารเอกเทศ 2 ชั้น ซึ่งปัจจุบันคืออาคาร 7 เรียกชื่อว่า “หอสมุดกลาง” มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2,600 ตารางเมตร สังกัดสำนักส่งเสริมวิชาการ การบริหารงานภายในแบ่งออกเป็น 4 แผนก ดังนี้

พ.ศ. 2537-2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะ จากวิทยาลัยครูนครราชสีมา เป็นสถาบันราชภัฏนครราชสีมาและได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ มีการปรับปรุงการเรียนการสอน โดยเพิ่มหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ เช่น เทคโนโลยีก่อสร้าง เทคโนโลยีอุตสาหกรรม การออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ นิติศาสตร์ และเปิดสอนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาและอื่น ๆ มีผลทำให้ห้องสมุดได้รับงบประมาณในการดำเนินการมากขึ้น ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีอาจารย์ศิริพร พูลสุวรรณ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องสมุด

พ.ศ. 2540 หอสมุดได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักวิทยบริการ และได้นำโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Alice for Windows มาใช้ในการดำเนินงานทางด้านห้องสมุดทั้งหมด

พ.ศ. 2541 มีอาจารย์ประพินพร เลิศธีระวิวัฒน์ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และในช่วงปีนี้ สำนักวิทยบริการ ได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักวิทยบริการหลังใหม่เป็นอาคาร 6 ชั้น มีเนื้อที่ 5,000 ตารางเมตร โดยก่อสร้างติดกับอาคารหอสมุดกลางหลังเดิม (อาคาร 7)

พ.ศ.2544 – 2545 อาคารสำนักวิทยบริการ (อาคารใหม่ 6 ชั้น) ก่อสร้างแล้วเสร็จ และสร้างทางเชื่อมต่อระหว่าง 2 อาคาร พื้นที่ใช้สอยรวม 6,000 ตารางเมตร และได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ชื่อว่า “อาคารบรรณราชนครินทร์” เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 อาจารย์สุรศักดิ์  สังฆมานนท์  ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ

พ.ศ.2546 ได้จัดทำเว็บไซต์เครือข่ายพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ สำหรับให้บริการครู อาจารย์ ทางด้านการเรียนการสอน ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ สามารถสืบค้นฐานข้อมูลต่าง ๆ  รวมทั้งมีบทความทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์

พ.ศ.2548 เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ (กฎกระทรวง) ออกตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ประกาศวันที่ 8 มีนาคม 2548 เล่มที่ 122 ตอน 20ก หน้าที่ 35 ใน(8) ได้กำหนดให้เปลี่ยนเชื่อเป็นสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยรวมศูนย์คอมพิวเตอร์และสำนักวิทยบริการเข้าด้วยกัน

พ.ศ.2550 เดือนมิถุนายนมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ โดยศูนย์คอมพิวเตอร์ที่สังกัดสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ยกฐานะเป็นสำนักคอมพิวเตอร์ ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และในเดือนพฤศจิกายน มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแยกงานผลิตสื่อกราฟิกให้ขึ้นตรงกับสำนักคอมพิวเตอร์

พ.ศ. 2552-2556 (มิถุนายน) สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสำนัก โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิกุล ภูมิโคกรักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ทำการพัฒนาสำนักฯทั้งในส่วนของจำนวนบุคลากรเพิ่มขึ้น จาก 34 คน เป็น 37 คน  มีการปรับปรุงอาคารสถานที่ โดยการทาสีภายนอกและภายในอาคาร ปรับปรุงมุมบริการ เช่น มุม AV Corner มุม IT Knowledge Area มุม Set Corner เป็นต้น ในการพัฒนาครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนางานบริการสู่ความเป็นเลิศ และมุ่งพัฒนาองค์กรสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยได้นำขบวนการการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร

พ.ศ. 2556 (20 กรกฎาคม 2556) – ปัจจุบัน  สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสำนัก โดยอาจารย์สุเกษม  อิงคนินันท์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาสำนักวิทยบริการฯ ก้าวสู่มาตรฐานสากล เป็นสถาบันบริการชั้นนำในระดับภูมิภาค โดยมีสโลแกนที่ว่า “ก้าวสู่มาตรฐานบริการด้วยใจ”

ในรอบปี 2557 (1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน  2557) ผู้บริหารทั้งในอดีต และปัจจุบัน  รวมทั้งบุคลากรทุกท่านของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ดำเนินงานต่างๆ ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งแผนงานของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น และทุ่มเท โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาให้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีลักษณะของงานหลัก คือ การบริการ ให้เป็นองค์กรที่มีการบริการสู่ความเป็นเลิศ  ทั้งนี้โดยได้ดำเนินการผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย รวมทั้งได้นำเอากระบวนการจัดการความรู้มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานในทุก ๆ ภาคส่วน  เพื่อให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ แผนงาน และเป้าหมายหลัก ซึ่งจากการประเมินตนเองเพื่อรับการประเมินระบบประกันคุณภาพ ประจำปีการศึกษา 2556 เฉลี่ยอยู่ในระดับดี ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำปีการศึกษา 2556 เฉลี่ยในระดับมาก รวมทั้งผลการประเมินการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็อยู่ในระดับดี เช่นกัน ซึ่งผลตอบรับดังกล่าวนับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจแก่บุคลากรทุกในการที่จะร่วมกันพัฒนางาน ตลอดจนสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับบริการมากที่สุด

ในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาที่มีพันธกิจหลัก ๔ ประการ อันได้แก่

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้จัดหาและบริการทรัพยากรสารสนเทศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตำรา หนังสือ วารสารวิชาการ ฯลฯ รวมทั้งทรัพยากรสารสนเทศในรูปดิจิทัล และออนไลน์ อาทิ ebook ฐานข้อมูลดิจิทัลด้านการวิจัยและวารสาร เป็นต้น นอกจากนั้นยังสนับสนุน และบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เป็นประจำ นอกจากนั้นด้านเทคโนโลยีการศึกษา ได้พัฒนาระบบการให้บริการ การส่งเสริมการใช้งาน การให้ความรู้ ในการใช้งาน เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2559 ที่นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสำนักวิทยบริการฯ คือ การได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาระบบห้องสมุด โดยเฉพาะระบบการยืม-คืน ทรัพยากรสารสนเทศ ระบบการพิสูจน์ตนเองเพื่อเข้ารับบริการ ที่เชื่อมโยงกับระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ทำให้กลายเป็นห้องสมุดระบบอัจฉริยะ ที่ผู้รับบริการสามารถยืมหนังสือด้วยตนเอง และคืนหนังสือด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมงผ่านตู้รับคืนที่มีระบบตรวจสอบและพิมพ์เอกสารหลักฐานยืนยันได้ สามารถตรวจสอบผลและยืมต่อผ่านเว็บไซด์ หรือ ARC Application ทำให้ผู้รับบริการมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีภารกิจในการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ  ดำเนินการจัดหา รวบรวม และจัดเก็บสารสนเทศ เพื่อให้พร้อมในการบริการมีทรัพยากรที่ครบถ้วนและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ทุกสาขาวิชา เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้บริการด้วยจิตบริการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มุ่งมั่นให้ความช่วยเหลืออย่างกระตือรือร้น สร้างความประทับใจไม่นั่งรอคอยรับบริการแต่ฝ่ายเดียว เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ ทันสมัย และตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงได้มีกิจกรรมบริการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัย ดังนี้

ยุทธศาสตร์ด้านการบริการที่มีประสิทธิภาพ งานบริการสารสนเทศได้ดำเนินการจัดโครงการ/กิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมส่งเสริมการใช้ห้องสมุด โครงการ Library tour โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด สำหรับวิทยานิพนธ์ กิจกรรมอบรมการสืบค้นฐานข้อมูล กิจกรรมใบเสร็จนี้มีรางวัล กิจกรรมปลอดค่าปรับ (วันราชภัฏ) กิจกรรมมุมบริการหนังสือใหม่ โครงการปรับปรุงบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีการศึกษา กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศได้จัดโครงการเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน เช่น โครงการอบรมกลยุทธ์การสืบค้นสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในระดับนานาชาติ กิจกรรม iT-care@LibraryEpisode เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพัฒนาให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน เช่น กลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ใช้ Google Calendar ในการจัดทำตารางงาน/บริการและการมอบหมายงาน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีระบบบริหารจัดการที่ดี สร้างคุณภาพชีวิตและความผาสุกในการปฏิบัติงานของบุคลากร ควบคู่ไปกับการสร้างธรรมาภิบาลและมาตรฐานการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (High performance organization) โดยการปรับปรุงระบบบริหารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับระบบการทำงานลดความซ้ำซ้อน ทบทวนแผนกลยุทธ์ประจำปีงบประมาณ และแนวปฏิบัติราชการประจำปี โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนพร้อมกำหนดแนวทางในการติดตามและประเมินผล

ด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร  สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  สนับสนุนให้บุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองและนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ เช่น การอบรมวิเคราะห์ค่างาน  การอบรมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ภารกิจหน่วยงาน  การอบรมข้อควรรู้เกี่ยวกับการจำหน่ายพัสดุภาครัฐ อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการเขียนรายงานการควบคุมภายใน ให้กับบุคลากรภายในสำนักฯ การประชุมเครือข่ายสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในหัวข้อ “ARIT 4.0” เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 35 การศึกษาดูงานสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยต่างๆ การศึกษาดูงานด้านรูปแบบ/แนวคิดการจัดนิทรรศการ กลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์และพัฒนาสื่อมัลติมีเดีย ศึกษาดูงานสำนักสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น

ซึ่งสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานเพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้ในเกิดประโยชน์ในการดำเนินงานของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิเช่น

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ซึ่งแต่ละกลุ่มงานได้มีการบูรณาการการประกันคุณภาพการศึกษา การจัดการความรู้ การบริหารความเสี่ยง และการประเมินผลการปฏิบัติงานไปสู่การพัฒนางานประจำ  โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร : บทเรียนการพัฒนาการให้บริการเพื่อยกระดับคุณภาพองค์กร

ในการจัดกิจกรรมแต่ละกิจกรรมนั้น สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการเป็นหลักจึงได้มีการวางแผนและจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ เช่น ออกหนังสือเชิญไปยังหน่วยงานต่างๆ จดหมายข่าว Library news จดหมายข่าว NRRU news แผ่นพับ โปสเตอร์ ป้ายไวนิล เว็บไซต์ และประชาสัมพันธ์ผ่านเคเบิ้ลทีวี ท้องถิ่น ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

สำนักวิทยบริการฯ ยังได้มีกิจกรรมที่แสดงถึงการเทิดทูนพระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและประเพณี โดยร่วมพิธีต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น เช่น พิธีวางพานพุ่มในวันสำคัญ ๆ ร่วมพิธีหล่อเทียนเข้าพรรษา บุคลากรร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันปีใหม่ รดน้ำขอพรผู้บริหารและคณาจารย์ผู้อาวุโสเนื่องในวันสงกรานต์จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา เป็นต้น และนับจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่ารู้สึกเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของพระองค์ท่าน และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม “ราชภัฏ”และตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเกียรติยศสูงสุดแก่ชาวมหาวิทยาลัย ราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร โดยนาม “ราชภัฏ หมายความว่า เป็นคนของพระราชา” สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาในฐานะเป็นคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน สำนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้ เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีเป็นราชสักการะและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้จัดทำนิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 9 รวมถึงการจัดทำโครงการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ถวายอาลัยองค์ภูมิพล

นอกจากนี้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับความไว้วางใจจากจังหวัดนครราชสีมา ให้ดำเนินการจัดทำนิทรรศการ  “พระบารมีปกเกล้าชาวนครราชสีมา” และยังให้ข้อมูลแก่หน่วยงานราชการภายในท้องถิ่นที่นำไปจัดนิทรรศการอีกด้วย   ซึ่งนับว่าสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นแหล่งข้อมูลสารสนเทศที่สามารถเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

จากการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ จึงมีหน่วยงานที่เข้ามาศึกษาดูงานสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิเช่น อาจารย์และนักศึกษา หลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้บริหารและบุคลากร สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  ผู้บริหารและบุคลากร สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้แก่นักศึกษาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ หลักสูตรสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น