เนื้อหา

วิชา IS การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study : IS)

บันได 5 ขั้น สู่วิชา IS

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับโรงเรียนชั้นนำที่มีความพร้อมให้เป็นโรงเรียนดีมีมาตรฐานสากล หรือที่เรียกกันว่า World – Class Standard School เพื่อสร้างคนไทยรุ่นใหม่ให้เป็นคนดีของสังคมโลก โดยคาดหวังยกระดับการจัดการเรียน การสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล ยกระดับการบริหารจัดการระบบคุณภาพ พร้อมรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้โรงเรียนมาตรฐานสากลมุ่งสร้างผู้เรียนให้มีศักยภาพด้วยการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่ใช้เป็นเป้าหมายในการยกระดับการจัดการศึกษาของทั้งโรงเรียน การออกแบบหลักสูตรจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งผู้เรียนจะเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามที่กำหนด มีการพัฒนาต่อยอดคุณลักษณะที่เทียบเคียงกับสากล โดยโรงเรียนต้องพิจารณาให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพความพร้อมและจุดเน้นที่มีความแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละโรงเรียน

บันได 5 ขั้นของการพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากล บูรณาการเป็นรายวิชาเพิ่มเติม คือ การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study : IS) มีดังนี้ (ชลิต สุริยะสกุลวงษ์. 2555 : 15)

IS 1 การศึกษาค้นคว้า และสร้างองค์ความรู้ (Research and Knowledge Formation) มุ่งให้ผู้เรียนตั้งประเด็นปัญหา ตั้งสมมุติฐาน ฝึกทักษะการศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย การคิดวิเคราะห์ และสรุปองค์ความรู้ เป็นบันไดขั้นที่ 1 การตั้งประเด็นปัญหา และสมมุติฐาน (Hypothesis Formulation) ขั้นที่ 2 การแสวงหาเพื่อสืบค้นสารสนเทศ (Searching for Information) ขั้นที่ 3 การสรุปองค์ความรู้ (Knowledge Formation)

IS 2 การสื่อสารและการนำเสนอ (Communication and Presentation) มุ่งให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้ามาพัฒนาวิธีการถ่ายทอด สื่อสารความหมาย แนวคิด ข้อมูล และองค์ความรู้ด้วยวิธีการนำเสนอที่เมาะสม หลากหลายรูปแบบ และมีประสิทธิภาพ เป็นบันไดขั้นที่ 4 การสื่อสาร และการนำเสนอ (Effective Communication)

IS 3 การนำองค์ความรู้ไปบริการสังคม (Social Service Activity) มุ่งให้ผู้เรียนนำ และประยุกต์องค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติ หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เกิดบริการสาธารณะ เป็นบันไดขั้นที่ 5 การบริการสังคม และจิตสาธารณะ (Public Service)

การที่จะจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนเพื่อให้เกิดความรู้ที่แท้จริงต้องเข้าใจระบบการทำงานของสมอง (Wolfe. 2001 : 103-108) ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ (Piaget) ที่เน้นกลไกการเรียนรู้ที่นำไปสู่การสร้างความรู้ (Fosnot. 1996 : 11) คือ เมื่อบุคคลปะทะสัมพันธ์กับประสบการณ์หนึ่งๆ ถ้าข้อมูลหรือประสบการณ์นั้นสัมพันธ์กับความรู้หรือโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่แล้วจะเกิดกระบวนการซึม เข้ากับโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม แต่ถ้าข้อมูล หรือประสบการณ์ไม่สัมพันธ์กับความรู้ หรือโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่แล้วจะเกิดภาวะไม่สมดุลทำให้บุคคลพยายามเรียนรู้เพื่อปรับสมดุลทางปัญญาโดยการสร้าง โครงสร้างทางปัญญาขึ้นใหม่ เกิดเป็นความรู้ใหม่ของบุคคลนั้น


ในบทเรียนนี้นักเรียนจะได้เรียนรู้ ในเรื่องต่อไปนี้ค่ะ เตรียมตัวให้พร้อมนะคะ

เรื่องที่ 1
การตั้งปัญหา

เรื่อง ที่ 2
มีปัญหานำสู่การค้นคว้า

เรื่องที่ 3
นำข้อมูลสร้างองค์ความรู้

เรื่องที่ 4
นำเสนออย่างสร้างสรรค์

เรื่องที่ 5
เรียงร้อยถ้อยคำ

เรื่องที่ 6
เล่าสู่กันฟัง

เรื่องที่ 7
คุณค่าของงาน

กิจกรรมสาธารณประโยชน์