ความเป็นมาภาควิชาออร์โธปิดิกส์

งานด้านศัลยกรรมกระดูกในวชิรพยาบาล

เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2497 โดย นายแพทย์ปรีชา ตาปสนันทน์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นการปฏิบัติงานในกองศัลยกรรม มีเตียงรับผู้ป่วยด้านศัลยกรรมกระดูกชายและหญิง จำนวน 10 เตียง อยู่ภายในหอผู้ป่วยศัลยกรรม (ทั่วไป) และมีห้องเฝือกสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยด้านศัลยกรรมกระดูกทุกวันพุธ ณ ศาลาจักรพงษ์

พ.ศ. 2507 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ นคร สมบูรณ์วิทย์ และ พ.ศ. 2508 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ วีระวัฒน์ หาญทวิชัย เข้าปฏิบัติงานในฐานะแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตึกบำบัดอุบัติเหตุก่อสร้างแล้วเสร็จ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารเพชรรัตน์) จึงมีการเปิดหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก ที่ชั้น 2 ตึกบำบัดอุบัติเหตุ แบ่งเป็นเตียงสามัญสำหรับผู้ป่วยชาย 15 เตียง หญิง 15 เตียง รวม 30 เตียง และย้ายห้องเฝือกไปอยู่ที่ชั้นล่างของตึกบำบัดอุบัติเหตุ

พ.ศ. 2520 นายแพทย์บุญเลี้ยง อุกฤษณ์ (วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์) ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ไพฑูรย์ เนาวรัตโนภาส (วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์) และนายแพทย์สุกิจ หาญพานิชกิจการ แพทย์แพทย์ฝึกหัด เข้ามาร่วมปฏิบัติงานด้านศัลยกรรมกระดูก หลังจากนั้นงานด้านศัลยกรรมกระดูก วชิรพยาบาล มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ

พ.ศ. 2527 นายแพทย์พิชญา นาควัชระ เข้าปฏิบัติงานด้านศัลยกรรมกระดูก และได้รับทุนจากวชิรพยาบาลไปศึกษาต่อสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ จนได้รับวุฒิบัตรศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ในปี พ.ศ. 2532 และกลับมาปฏิบัติงานในสาขาศัลยกรรมกระดูก วชิรพยาบาล

พ.ศ. 2528 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์นคร สมบูรณ์วิทย์ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์วีระวัฒน์ หาญทวิชัย และนายแพทย์สุกิจ หาญพานิชกิจการ ได้ผ่านการสอบและได้อนุมัติบัตรศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ จากแพทยสภา

16 มิถุนายน 2528 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีคณะแพทยศาสตร์ (วชิรพยาบาล) เป็นส่วนราชการของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีวชิรพยาบาลเป็นสถานที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้านคลินิกให้แก่นิสิตแพทย์ แพทย์ในสังกัดวชิรพยาบาลซึ่งปฏิบัติงานด้านศัลยกรรมกระดูกในขณะนั้นได้เข้าอบรมหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษาเพื่อเตรียมเป็นอาจารย์แพทย์ (ในฐานะอาจารย์พิเศษ) ในปี พ.ศ. 2531 รองศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณวงศ์ เทพชาตรี เป็นอาจารย์ท่านแรกในสังกัดภาควิชาออร์โธปิดิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เข้ามาร่วมเตรียมการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งมีการเตรียมเอกสารประกอบการสอนชุดแรก 2 เล่ม ได้แก่ “ตำราออร์โธปิดิกส์สำหรับนิสิตแพทย์” ซึ่งเขียนและรวบรวมโดยอาจารย์พิเศษในสังกัดวชิรพยาบาลทั้ง 5 ท่าน และ “โรคที่พบบ่อยในเด็ก” ซึ่งเรียบเรียงโดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณวงศ์ เทพชาตรี และเริ่มชั่วโมงการบรรยายแรกให้แก่นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 4 รุ่นแรก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2531

พ.ศ. 2533 และ พ.ศ. 2534 นายแพทย์สมชาย จึงมีโชค และนายแพทย์ไพศาล อภิมนต์บุตร ซึ่งได้รับวุฒิบัตรศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ เข้าปฏิบัติงานในสาขาศัลยกรรมกระดูกตามลำดับ

พ.ศ. 2535 กลุ่มงานศัลยกรรมกระดูก วชิรพยาบาล ได้รับอนุมัติให้จัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ จำนวน 3 คนต่อปี และเพิ่มเป็น 6 คนต่อปีในปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน

28 มกราคม 2536 มีการจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร (วพศ.) ซึ่งเป็นวิทยาลัยแพทยศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร โดยวชิรพยาบาลเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนด้านคลินิกให้กับนักศึกษาแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร ควบคู่ไปกับการจัดเรียนการสอนให้กับนิสิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลังจากนั้น ได้มีแพทย์บรรจุเข้าปฏิบัติงานทั้งในสังกัดวชิรพยาบาล และสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพิ่มขึ้นตามลำดับ

20 กรกฎาคม 2541 คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครมีมติให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครรวมกับวชิรพยาบาล เป็นวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล (วพบ.) และกลุ่มงานศัลยกรรมกระดูก เปลี่ยนเป็นภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล วันที่ 24 ธันวาคม 2541

พ.ศ.2551 ภาควิชาฯเปิดฝึกอบรมแพทย์ต่อยอด(Fellow) อนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา และพ.ศ.2552 อนุสาขาข้อเทียม จำนวนอนุสาขาละ 1 ตำแหน่ง

2 ตุลาคม 2551 ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ขอเปลี่ยนชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นทางการโดยเปลี่ยนชื่อตามหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับอนุมัติจากแพทยสภา วันที่ 14 สิงหาคม 2551) เป็น “ ออร์โธปิดิกส์ ” แทน “ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์หรือศัลยกรรมกระดูก ”

ปัจจุบัน ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ มีอาจารย์แพทย์วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ 16 ท่าน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

  • สำนักงานภาควิชาออร์โธปิดิกส์ ชั้น 3 อาคารมหาวชิราวุธ ฝั่งตะวันออก
  • ห้องตรวจผู้ป่วยนอกออร์โธปิดิกส์ ชั้น 1 ตึกผ่าตัด
  • หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ชาย (สามัญ) จำนวน 28 เตียง ชั้น 7 อาคารมหาวชิราวุธ
  • หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หญิงและเด็ก (สามัญ) จำนวน 29 เตียง ชั้น 5 อาคารมหาวชิราวุธ
  • หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์พิเศษ 1 จำนวน 15 เตียง ชั้น 11 อาคารเพชรรัตน์

แพทย์ที่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานศัลยกรรมกระดูก วชิรพยาบาล ปี พ.ศ. 2534

จากซ้ายไปขวา

แถวนั่ง น.พ.บุญเลี้ยง อุกฤษณ์* น.พ.วีระวัฒน์ หาญทวิชัย* น.พ.ปรีชา ตาปสนันทน์* น.พ.นคร สมบูรณ์วิทย์* น.พ.ไพฑูรย์ เนาวรัตโนภาส*

แถวยืน น.พ.สมชาย จึงมีโชค* น.พ.อรุณวงศ์ เทพชาตรี** น.พ.สุกิจ หาญพานิชกิจการ* น.พ.ไพศาล อภิมนต์บุตร* น.พ.ประกิต เจียรนัยศิลาวงศ์** น.พ.พิชญา นาควัชระ*

*สังกัดวชิรพยาบาล **สังกัดคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ