พิธีแซงสนามไทโส้ บ้านโพนตูม หนองแสง

ชาวไทโส้บ้านโพนตูม บ้านหนองแสง ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชนเผ่าเรื่อยมา โดยเฉพาะพิธีกรรมเหยาซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ใช้ในการรักษาคนป่วย และทุกปีจะมีประเพณี “แซงสนาม” ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านในกลุ่มคนชาวไทโส้ที่เชื่อว่าผีเป็นวิญญาณที่มีอำนาจลึกลับ สามารถทำให้คนเจ็บป่วยได้ การบำบัดรักษามิให้ร่างกายเจ็บป่วยคือ การป้องกันมิให้วิญญาณผีเข้าสิงในร่างได้อีกหลังจากที่ได้ทำพิธีปัดเป่าให้ผีออกไปจากร่างกาย โดยแม่ครูหรือแม่หมอ ทำพิธีเหยาคุมผีให้ออกไปแล้ว ทำให้ชาวไทโส้ให้ความนับถือหมอเหยาเป็นอย่างมาก

เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ ในกลุ่มคนที่รักษาด้วยการเหยา ในแต่ละหมู่บ้านจะรวบรวมผู้ที่มีศรัทธาต่อแม่ครูซึ่งเคยให้การบำบัดรักษาคนมาแล้ว ให้มาทำพิธีร่วมกันเป็นประจำทุกปี โดยจัดทำพิธีขึ้นในหมู่บ้านของตน และนิยมจัดกันระหว่างช่วงเดือน 3 ถึง เดือน 5 ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน ดอกไม้ป่าบานสะพรั่ง สามารถเก็บมาบูชาแม่ครูและจัดผูกร้อยห้อยตามเสาไม้ โดยเฉพาะดอกจำปา ซึ่งนิยมนำมาเป็นพวงๆ ประดับเสากลางลานพิธีกรรม พิธีกรรมเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า “ลงสนาม” หรือในภาษาไทโส้ เรียกว่า “แซงสนาม” ซึ่งนอกจากจะเป็นการเลี้ยงผี เชิญผีออกจากร่างแล้ว ยังเป็นการบูชาแม่ครูหรือหมอเหยาไปพร้อมกันด้วย


พิธีแซงสนามจึงมีความสำคัญทั้งในเชิงความเชื่อในด้านการตรวจสุขภาพมิให้เจ็บป่วยจากวิญญาณผีร้าย และเป็นการตอบแทนแม่ครูที่เคยรักษาตนให้พ้นจากความเจ็บป่วยที่ผู้เจ็บป่วยหรือ “ลูกแก้ว” จะพบปะแม่ครูทำพิธีตอบแทนบุญคุณแม่ครูปีละ 1 ครั้งตลอดไป

พิธีกรรมในงานลงสนามเลี้ยงผี โดยปกติจะจัดขึ้น 2 วัน วันงานในภาคเช้าจะช่วยกันทำตูบทำผาม (ปะรำพิธี) ก่อนเวลาเที่ยงวันหมอเหยาจะแต่งตัวเข้าสู่ปะรำพิธีพร้อมด้วยลูกแก้ว ทุกคนเข้าประจำที่ของตน ลูกแก้วนั่งประนมมือบูชาครู แม่ครูพนม เพื่อเชิญผีเข้าสู่ร่างตน บรรดาแม่ครูและลูกแก้วจะออกฟ้อนรำไปรอบๆ เสาลานพิธีท่ามกลางเสียงแคนที่บรรเลงเร้าใจ เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารจะหยุดพัก หลังจากนั้นก็ทำพิธีบอกกล่าวผีและออกฟ้อนรำเป็นที่สนุกสนานด้วยท่าทางต่างๆ ซึ่งบรรดาผู้ทำพิธีเชื่อว่าเป็นความต้องการของผีให้ทำเช่นนั้น

การประกอบพิธีแซงสนามของไทโส้เกิดจากความเชื่อในเรื่องวิญญาณทำให้เกิดความเจ็บป่วย การรักษาสุขภาพที่ดีคือการปัดเป่าขอร้องไห้ผีออกจากร่างกายด้วยผู้ที่มีความรู้ มีอำนาจเหนือกว่าตน ด้วยการจัดทำพิธีเลี้ยงผีและเลี้ยงหมอเยาไปพร้อมๆ กัน ตามความเชื่อดั้งเดิมแบบพื้นบ้าน