แหล่งการเรียนรู้ชุมชน

พระแก้วมรกต

เป็นพระพุทธรูปปางมาวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 2 นิ้ว สูง 5 นิ้ว องค์พระเป็นสีเขียวมรกต มีฐาน 3 ชั้น ทำด้วยโลหะเงินเหมือนพระสมเด็จ เศียรทำด้วยทอง

ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่า หลวงปู่วิสาขา (เจ้าอาวาสองค์แรก) ได้นำพระแก้วนี้มาจากเมืองเวียงจันทร์โดยท่านได้มาจากหญิงม่าย ชาวลาวที่กำลังเลี้ยงควาย ซึ่งท่านได้สังเกตเห็นหญิงม่ายได้นำตระกร้าที่ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ที่สวยงาม จึงถามไปว่าในตะกร้านั้นมีอะไรจึงได้ความว่าในตะกร้ามีพระแก้วมรกต นางไม่ต้องการเก็บไว้บ้าน เนื่องจากกลัวมีคนมาขโมยนางจึงได้ยกพระนี้ให้เป็นพระประจำวัด และได้นำกลับมาประดิษฐานไว้ในวัดแม้บางช่วง พระยาชัยสุนทรจะได้อัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐาน ณ ตัวเมืองกาฬสินธุ์ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระแก้วทำให้พระยาชัยสุนทรต้องนำพระแก้วมาคืนที่วัดดังเดิม เพราะทำให้เมืองกาฬสินธุ์สมัยนั้นเกิดฝนแล้งอย่างหนัก

นอกจากนี้ในสมัยโบราณเล่ากันว่าเดิมทีพระแก้วองค์ดังกล่าว ไม่ว่าจะวางไว้ที่ใดก็ตามพระแก้วจะหันพระพักตรไปทางเมืองเวียงจันทร์เสมอ หากใครลืมหรือตั้งใจหันพระพักตร์ไปทิศอื่นแล้วสุดท้ายท่านก็จะหันกลับไปตามเดิม


อุปมง

สร้างเมื่อปี พ.ศ.2310 เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพ สักการะของชาวอำเภอร่องคำ และใกล้เคียง สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของหลวงปู่วิสาขา หรือพระยาคูหลักคำ (เจ้าอาวาสองค์แรก) อพยพภัยสงครามมาจากเวียงจันทน์ ซึ่งครองวัดนี้อยู่ประมาณ 44 ปี และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2538 พระครูสุพจน์วรคุณ (เจ้าอาวาสองค์ที่ 2) พร้อมกับชาวบ้านได้สร้างเจดียืทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบเดียวกันกับพระธาตุพนม ครอบอุปมงไว้ ปัจจุบันมี พระอภิสิทธิ์ อภินนโท เป็นเจ้าอาวาส

สิมโบราณ

สิมโบราณ วัดอุมังคละนาเรียง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2310 รูปแบบสถาปัตยกรรมสิม สิมเป็นสิมทึบ เสาไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคาจั่วทรงไทย มุงด้วยสังกะสี ทำด้วยไม้ฉลุลายสวยงาม หน้าต่าง ประตูทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง มีหลังคาปีกนก ยื่นออกมาเพื่อบังผนัง ด้านข้าง ซึ่งมีร่องรอยการเขียนฮูปแต้มด้านนอกโดยรอบ ดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องมหาเวสสันดรชาดก น่าจะเขียนขึ้นภายหลัง เพราะผนังด้านในและด้านนอกต่างกัน ผนังด้านนอกน่าจะฉาบ และเตรียมพื้นเพื่อเขียนฮูปแต้ม ลายกรอบรูปนั้นยังใหม่อยู่ ฝีมือชั้นครู ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป สังเกตจากการวางองค์ประกอบเรื่อง การดัดเส้น การวาดสัดส่วนร่างกาย หน้า มือ ตัดเส้นได้สวยงาม

ภายในสิมโบราณ มีพระประธานทที่ทำจากดินเหนียว และไม้

ปัจจุบันทางสำนักงานกรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะสิมหลังนีั สิ้นงบทั้งหมด 4.6 ล้าน บาท (เริ่มทำการบูรณะ พ.ศ. 2561)