ประวัติความเป็นมาของสถานศึกษา

เมื่อปี พ.ศ. 2526 กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้กรมวิชาการและกรมสามัญศึกษา ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกรมการศึกษานอกโรงเรียนในอดีต ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ร่วมกันดำเนินงาน “สอบเทียบ” ความรู้บุคคลภายนอก และต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งหน่วยงานที่ดำเนินการจัดการศึกษานอกโรงเรียนโดยมอบหมายให้กรมวิชาการรับผิดชอบในด้านวิชาการ เช่น ข้อสอบและมาตรฐานของข้อสอบกรมสามัญศึกษารับผิดชอบด้านอาคาร สถานที่ บุคลากร การบริการและการบริหารหน่วยจัดประเภทบุคคลภายนอก ส่วนกรมการศึกษานอกโรงเรียนมีหน้าที่รับผิดชอบและดำเนินการประสานงานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องโดยเรียกว่า “หน่วยจัดการศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอก” ต่อมากรมการศึกษานอกโรงเรียนได้มอบหมายให้กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน (กลุ่มพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาในปัจจุบัน) รับผิดชอบการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน ต่อมามีนักศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับกองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน ขณะนั้นมีภารกิจหลักอยู่แล้ว จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เป็นสถานศึกษารับผิดชอบภารกิจทั้งกระบวนการของการจัดการศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอก จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ชื่อว่า“ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอก”
เรียกชื่อย่อว่า
“ศบน.”

ในปี พ.ศ. 2529 โดยพระธรรมราชานุวัตร (หลวงเตี่ย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน วิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และจัดสร้างวัดไทยลอสแองเจลิสขึ้นที่นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแห่งแรกในต่างประเทศ พระธรรมราชานุวัตร ท่านมองเห็นว่ายังมีเด็กไทยส่วนมากย้ายตามผู้ปกครองไปและเด็กบางคนเกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านจึงได้ประชุมปรึกษาหารือกับคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าควรร่วมมือกันจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กไทย ให้เรียนรู้ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย ประเพณีไทย รักความเป็นคนไทย และได้ขอความร่วมมือมายังกรมการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อขอเปิดเป็นหน่วยจัดการศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอก ดำเนินงานโดย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดทำโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคัดเลือกครูอาสาสมัครที่เป็นคนไทยไปสอนในต่างแดน จึงได้ดำเนินการเปิดเป็นหน่วยจัดควบคู่ไปด้วยตั้งแต่นั้นมา ภายหลังเมื่อมีการขยายหน่วยจัดฯ ไปยังประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การเรียนทางไกล เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษายิ่งขึ้น และในปีการศึกษา 2530 ศบน. ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จของการศึกษานอกโรงเรียน เป็นหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน พุทธศักราช 2530 และปรับวิธีเรียนเป็น 3 วิธี คือ วิธีเรียนแบบชั้นเรียน วิธีเรียนทางไกลและวิธีเรียนด้วยตนเอง ต่อมา ศบน. ได้เพิ่มบทบาทหน้าที่ในด้านการจัดการศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้และเครื่องมือวัดผลการเรียนของนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ จึงประกาศเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาให้สอดคล้องเหมาะกับภารกิจเป็น “สถาบันส่งเสริมมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน” (เรียกชื่อย่อว่า สมน.) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536

ต่อมา สมน. ได้รับมอบหมายตามนโยบายเร่งด่วน ให้จัดการศึกษานอกโรงเรียนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีสภาพและปัญหาพิเศษแตกต่างจากกลุ่มเป้าหมายทั่วไป มีวิธีการจัดการศึกษาเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กด้อยโอกาส สตรีกลุ่มเสี่ยง และคนไทยในต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ จึงประกาศเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาให้สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายใหม่เป็น“ศูนย์ส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายพิเศษ” (เรียกชื่อย่อว่า ศกพ.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2543 เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีภารกิจหลัก 2 ประการ คือ

1. จัดการศึกษานอกโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และการศึกษาต่อเนื่องให้กับกลุ่มเป้าหมายคนไทยในต่างประเทศ

2. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาส ในประเทศ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็กด้อยโอกาส

ในปีพุทธศักราช 2551 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กรหลักและภารกิจให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษา
ตามอัธยาศัย พุทธศักราช 2551 จึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ” (ชื่อย่อ ศกพ.) จนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลชุมชน

สภาพที่ตั้ง ตั้งอยู่ในชุมชนเมือง มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างหนาแน่น ประชากรส่วนใหญ่ มีอาชีพค้าขาย มีศูนย์กลางทางด้านการบริหารและการปกครอง มีการติดต่อสื่อสาร
มีสิ่งก่อสร้าง ถนนหนทาง ทั้งภายในและ นอกเมือง และระหว่างเมือง

การคมนาคม การคมนาคมขนส่งโดยทางรถยนต์ เป็นระบบขนส่งที่สำคัญที่สุด โดยมีถนน 3 สายหลัก ดังนี้

- 1. ถนนราชดำเนินนอก - 2. ถนนราชสีมา - 3. ถนนพิษณุโลก