แหล่งเรียนรู้ของชุมชน

วัดดอยพระบาทหงส์คำ (ตีนนก) 

ประเภทแหล่งเรียนรู้  สถานที่ยึดเหนี่ยวจิต

ประวัติความเป็นมาของแหล่งเรียนรู้

          วัดดอยพระบาทหงส์คำ (พระบาทตีนนก) ต. ทุ่งหัวช้าง อ.ทุ่งหัวช้าง จ. ลำพูน สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นในยุคสมัยของพระนางเจ้าจามรี กษัตริย์ขัตติยะนารีของเมืองลี้  ในอดีตชุมชนลุ่มน้ำลี้เป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งได้พบร่องรอยศาสนสถานโบราณที่ได้สำรวจในบริเวณรอบ ๆ ถึง ๖ วัด สมัยก่อนอันเป็นแหล่งอริยะธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง จากหลักฐานที่ปรากฎที่มีซากเจดีย์เก่าพระพุทธรูปเก่าที่ขุดได้จากวัดร้าง สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนเผ่าลัวะ ซึ่งตั้งอยู่ทุ่งหัวช้าง ซึ่งกษัตริย์สมัยก่อนมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงได้สร้างเจดีย์วัดวาอารามต่าง ๆ ไว้ไกล้ ๆ กัน เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวลัวะ  ในช่วงนั้นเกิดสงครามสู้รบกัน และเกิดโรคระบาดเป็นเหตุให้ชุมชนชาวลัวะต่างพากันอพยพหนีย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น วัดวาอารามต่าง ๆ ถูกทิ้งร้างไม่มีใครดูแลเมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปีได้มีชนเผ่ากระเหรี่ยงและชาวพื้นเมือง ได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่และบูรณะวัดวาอารามขึ้นมาใหม่ 

          จนมาถึงสมัยของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านโดยเฉพาะชาวกระเหรี่ยง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านมาบูรณะสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้รับนิมนต์จากชาวบ้านมาสร้างวัดร้างในอำเภอทุ่งหัวช้าง เป็นสถานที่พญาหงส์คำพร้อมบริวารมาเล่นน้ำแล้วถูกบ่วงของนายพราน ตั้งอยู่ที่บ้านหัวขัว คือวัดพระธาตุหัวขัว เมื่อเกิดความแห้งแล้งชาวบ้านก็จะไปขอฝนกับพระธาตุเจดีย์วัดหัวขัว และพระครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านก็ได้ปรารภกล่าวถึงรอยพระบาทตีนนกหรือพระบาทหงส์คำที่อยู่บนดอย ชาวบ้านก็พากันขึ้นไปกราบสักการะบูชาพระธาตุเจดีย์ร้างซึ่งมีซากเจดีย์โบราณที่พังทลายเป็นเวลาหลายปี บนยอดดอยเป็นประเพณีและจุดบั้งไฟเป็นพุทธบูชาตามความศรัทธาความเชื่อของชาวบ้านเพื่อเป็นการทำพิธีขอฝนด้วย ต่อมาในยุคของพระครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี ท่านก็ได้มาสร้างวัดและบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ในอำเภอทุ่งหัวช้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านก็ได้สร้างพระวิหารวัดหัวขัวแทนหลังเดิมของพระครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ชำรุดทรุดโทรมลงไป ในเย็นวันหนึ่งเมื่อท่านทำวัตรสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนาเสร็จแล้วท่านก็ได้นั่งหันหน้าไปทาทิศตะวันตกแล้วก็พูดขึ้นว่า ดอยที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนี้มีรอยพระบาทตีนนกอยู่ และในวันหนึ่งชาวบ้านก็ได้นิมนต์ท่านนั่งเฉลียงคานหามเดินทางผ่านเลาะที่เชิงดอย ท่านก็กล่าวว่าบนดอยนี้มีรอยพระบาทตีนนกอยู่ พระครูบาแก้วและชาวบ้านก็นิมนต์ท่านมาสร้างแต่ท่านก็ปฏิเสธว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน จะมีเจ้าของมาสร้างเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านก็บอกให้พระครูบาแก้วขณะนั้นยังเป็นสามเณรอยู่และชาวบ้านขึ้นไปพัฒนาบริเวณสถูปเจดีย์เก่าและบูรณะศาลาไว้เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาและปฏิบัติธรรม 

สถานที่ตั้ง ของแหล่งเรียนรู้

          วัดดอยพระบาทตีนนก (หงส์คำ) ม.๑๑ ต.ทุ่งหัวช้าง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

การเดินทางไปวัดดอยพระบาทตีนนก (หงส์คำ) 

    ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ (ลำพูน-ลี้) โดยมีเส้นทางแยกเข้าสู่อำเภอทุ่งหัวช้าง ๒ เส้นทาง ดังนี้

        ๑. เข้าทางแยกแม่เทย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 
              ๑๒๑๙ (บ้านแม่เทย-ทุ่งหัวช้าง)

        ๒. เข้าทางแยกแม่อาว ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข
              ๑๑๘๔ (บ้านแม่อาว-ทุ่งหัวช้าง)
ประมาณ ๖๒ กิโลเมตร ถึงวัดดอยพระบาทตีนนก 

ความสัมพันธ์ของชุมชนกับการส่งเสริมความยั่งยืนของแหล่งเรียนรู้

       พระครูบาแก้วและชาวบ้านก็นิมนต์ท่านมาสร้างแต่ท่านก็ปฏิเสธว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน จะมีเจ้าของมาสร้างเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านก็บอกให้พระครูบาแก้วขณะนั้นยังเป็นสามเณรอยู่และชาวบ้านขึ้นไปพัฒนาบริเวณสถูปเจดีย์เก่าและบูรณะศาลาไว้เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาและปฏิบัติธรรม ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ พระครูบาเจ้าขาวคำปัน พร้อมด้วยชาวบ้านได้ขึ้นมาบนดอยพระบาทหงส์คำเพื่อดูสถานโบราณที่หลงเหลือแค่เศษอิฐ และฐานเจดีย์ร้างที่พังตกลงรอบๆบริเวณยอดเขา ท่านก็อธิษฐานจิตเพื่อจะขอบูรณะใหม่ ท่านก็บอกว่าสถานที่ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน จึงได้บอกให้พระครูบาแก้วมาดูแลสถานที่ตรงนี้ พาชาวบ้านมาพัฒนาสืบทอดตามเจตนาของพระครูบาเจ้าศรีวิชัยและพระครูบาอภิชัยขาวปีต่อไป เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงปู่ครูบาแก้วพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านได้พากันค้นหารอยตีนนก ตามคำกล่าวของพระครูบาเจ้าขาวปี ก็ได้พบรอยตีนนกบนก้อนหินใหญ่ที่เชิงดอย หลวงปู่ครูบาแก้วก็ได้พาชาวบ้านมาพัฒนาที่รอยตีนนกและได้สร้างเจดีย์ครอบเจดีย์เก่าที่เหลือแต่ฐานเจดีย์นั้น เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ในอดีต 

ที่มาของแหล่งข้อมูล https://www.thc.go.th/index/?page=article9186

ที่มาของรูปภาพ https://www.facebook.com/profile.php?id=100064750176354

ผู้เขียนหรือผู้เรียบเรียงเนื้อหา

ว่าที่ร้อยตรีพิทักษ์ชน  เฉยชู
ตำแหน่ง ครู อาสาสมัคร กศน. (ครู ศศช.)
สังกัด กศน.อำเภอทุ่งหัวช้าง