นางณัฐกฤตา พึ่งสุข

ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ 

ศูนย์ กศน. กลุ่มเป้าหมายพิเศษ

นายธเนตร หลงศรี

รองผู้อำนวยการ 

ศูนย์ กศน. กลุ่มเป้าหมายพิเศษ

ศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนไทยในต่างประเทศ 

          หรือศูนย์การเรียนในต่างประเทศ เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนให้กับคนไทยในต่างประเทศที่ศูนย์การเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.) ได้ประกาศจัดตั้งขึ้นตามความประสงค์และตามความพร้อมของหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชนหรือบุคคลในต่างประเทศ เสนอขอจัดตั้งศูนย์การเรียน กศน. โดยผ่านความเห็นชอบจากสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุล ของประเทศนั้น ๆ และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของศกพ. ซึ่งปัจุบันที่ทั้งหมด 46 ศูนย์การเรียน 19 ประเทศทั่วโลก

ความสำคัญของการจัดการศึกษาในต่างประเทศ

  ปัจจุบัน  มีคนไทยจำนวนมากได้ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ  ด้วยเหตุความจำเป็นที่แตกต่างกัน  อาทิ การไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ การเข้าไปแสวงหาอาชีพใช้แรงงาน การติดตามคู่สมรส ที่เป็นชาวต่างชาติ การไปศึกษาต่อด้านศาสนา ฯลฯ กลุ่มคนเหล่านี้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน บางครั้งทำให้เกิดความไม่เข้าใจโดยเฉพาะการปรับตัวในด้านการใช้ภาษา และความเป็นอยู่ กลุ่มเด็กที่มีเชื้อสายไทยที่เกิดในต่างประเทศ ล้วนขาดโอกาสในการเรียนรู้ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย  เมื่อกลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในการสื่อสาร อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทย ส่งผลให้ไม่มีความผูกพันกับความเป็นไทยและรักชาติไทย ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ทำให้เสียเวลา  นอกจากนี้ คนไทย
บางกลุ่มที่ดำรงชีวิตในต่างประเทศเป็นเวลานาน เกิดลูกหลานไทยรุ่นที่2 (Second Generation) และ รุ่นที่3 (Third Generation)  เป็นกลุ่มคนที่นับเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการเผยแพร่เกียรติคุณให้กับประเทศไทยและสามารถกลับมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดความตระหนัก ความผูกพัน รักความเป็นไทย หรือเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างภาพลักษณ์ให้มีความเท่าเทียมกับอารยประเทศ

กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(สำนักงานกศน.)ได้นำนโยบายการจัดการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนไทยในต่างประเทศสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่  ปี พ.ศ. 2536 โดยมุ่งให้ผู้รับบริการมีความรู้ความเข้าใจและเกิดความภาคภูมิใจในการใช้ภาษาไทย คงเอกลักษณ์ความเป็นไทยและเพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนไทยในประเทศ  กล่าวคือ การมีวุฒิการศึกษาที่มีศักดิ์และสิทธิ เท่าเทียมกับคนไทยที่ศึกษาในประเทศ และในระยะต่อมาได้ขยายการบริการการศึกษาที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มนักศึกษาไทยมุสลิม กลุ่มแรงงานไทยและกลุ่มแม่บ้าน การจัดการเรียนรู้ใช้หลักสูตรของ กศน. ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง (กลุ่มสนใจ) การจัดระบบการเรียนรู้ จัดในลักษณะศูนย์การเรียน กศน. สำหรับคนไทยในต่างประเทศ มีสถานภาพเสมือนห้องเรียนอยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการของสถานศึกษา  ชื่อว่า  ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ  (ศกพ.)  สังกัด กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ

ปัจจุบัน ศกพ. มีศูนย์การเรียนในต่างประเทศครอบคลุมทุกทวีป จำนวน 45 ศูนย์การเรียนใน 19 ประเทศ เนื่องจากได้รับความสนใจจากกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ และส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ดูแลคนไทยในต่างประเทศ เช่น  กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  กระทรวงวัฒนธรรม  สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา  มูลนิธิ องค์กรเอกชน และบุคคล เป็นต้น ทำให้มีการขอจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้น