ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี
ประเพณีรวมน้ำใจไทกะเลิง เป็นประเพณีที่ประชาชนชาวอำเภอกุดบากจักขึ้นในทุกๆปี เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทกะเลิง และทุกชนเผ่าในอำเภอกุดบากให้เข้มแข็ง และดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ชนเผ่ากะเลิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในหลาย ๆ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร มีประวัติความเป็นมา การเลือกหลักแหล่งทำมาหากิน วัฒนธรรม ความเชื่อ ตลอดจนภาษาพูดที่มีสำเนียงหรือถ้อยคำที่นิยมใช้กันเฉพาะในกลุ่มของตน
ประเพณีรวมน้ำใจไทกะเลิง
ประเพณีรวมน้ำใจไทกะเลิง เป็นประเพณีที่ประชาชนชาวอำเภอกุดบากจักขึ้นในทุกๆปี เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทกะเลิง และทุกชนเผ่าในอำเภอกุดบากให้เข้มแข็ง และดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ชนเผ่ากะเลิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในหลาย ๆ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร มีประวัติความเป็นมา การเลือกหลักแหล่งทำมาหากิน วัฒนธรรม ความเชื่อ ตลอดจนภาษาพูดที่มีสำเนียงหรือถ้อยคำที่นิยมใช้กันเฉพาะในกลุ่มของตน
กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยมาเป็นเวลานานก่อนที่ประเทศไทยเปลี่ยนเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (modernnation state) อันมีเขตแดนและแผนที่ของประเทศอันเป็นเครื่องมือในการสร้างความชัดเจนถึงขอบเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงหรือชาวกะเลิงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ภาษากะเลิงจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Astro - Asiatic)หมวดภาษามอญ - แขมร์ (Mon-Khmer)1 ปัจจุบัน ชาวกะเลิงมีถิ่นฐานที่อยู่อาศัยกระจายตัวอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศลาวในแขวงสะหวันนะเขต - แขวงคำม่วน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยในจังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงยังคงรักษาวัฒนธรรมเฉพาะทางด้านระบบความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผีที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ในการดำรงชีวิตตามวิถีของกลุ่มตน โดยมีศาสนาพุทธเข้ามาผสมผสานในภายหลังและสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชาวกะเลิง และได้กลายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในอ้างอิงความเป็นกะเลิง นอกจากนี้ทั้งสองระบบความเชื่อยังเป็นที่พึ่งทางชีวิตจิตวิญญาณที่เข้มแข็งระบบความเชื่อผีและศาสนาพุทธมีอิทธิพลต่อสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงอย่างเข้มข้น โดยเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้ามาจัดระเบียบสังคม นำไปสู่โครงสร้างทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงโดยเฉพาะ จากการปรับตัว ต่อสู้ ต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงทำให้ความเป็นกะเลิงนั้นยังไม่เลือนหายกลายเป็นอื่น ดังจะเห็นได้จากการที่กลุ่มชนชาวกะเลิงยังคงเรียกขานกลุ่มของตนและบุคคลในระดับปัจเจกว่าเป็น “กะเลิง”
งานรวมน้ำใจไทกะเลิง มีกิจรรมในงานประกอบด้วย การทำบุญตักบาตร การบูชาพระแก้วเสตังคมณี การบูชาหลวงพ่อพระบาง พระพุทธรูปประจำอำเภอ การบวงสรวงให้แก่บรรพบุรุษชนเผ่ากะเลิง และชนเผ่าในอำเภอกุดบาก ขบวนแห่วัฒนธรรม การแสดง แสง สี เสียง และสื่อผสมสะท้อนวิถีชีวิต ชนเผ่าท้องถิ่น พิธีเหยา การจำลองพิธีกรรมทางวัฒนธรรม การแสดงแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการของส่วนราชการ และหน่วยงานต่าง ๆ การแสดงสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ฯ ประเพณี "รวมใจไทกะเลิงและชนเผ่าอำเภอกุดบาก" เป็นประเพณีอันทรงคุณค่าของชาวอำเภอกุดบาก ที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี
อ้างอิง : โครงสร้างสังคมกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง: บทวิเคราะห์จากระบบความเชื่อและศาสนา กรณีศึกษา หมู่บ้านกุดแฮด ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
ผู้เขียน : นางสาวอรอุมา ดาบลาอำ