โปเต้

วัฒนธรรมไทย : ด้านการแต่งกาย
    วัฒนธรรมไทยด้านการแต่งกาย ตั้งแต่ในอดีตมานั้นคนไทยมีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่ใช้ผ้าไทยซึ่งทำจากผ้าไหม ผ้า ทอมือต่างๆ นำมาทำเป็นผ้าสไบสำหรับผู้หญิงไทย ส่วนผู้ชายก็มีการแต่งกายที่นิยมสำหรับชาวบ้านก็คงหนีไม่พ้นผ้าขาวม้าซึ่ง นิยมใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันก็ยังมีอยู่
    ตัวอย่าง ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้นหญิงไทยจะนุ่งโจงกระเบนสวนเสื้อรัดรูปแขนกระบอก ผู้ชายจะนุ่งผ้าม่วงโจง สวม เสื้อคอปิด ผ่าอกแขนยาว โดยปกติจะไม่นิยมใส่เสื้อ
            ซึ่งในปัจจุบันนี้เราหาแทบไม่ได้แล้วสำหรับการแต่งกายแบบนี้ เนื่องจากคนไทยสมัยปัจจุบันนิยมแต่งกายตามแบบนิยม ตามชาวยุโรปซึ่งทำให้กายแต่งกายแบบอดีตเริ่มเลื่อนหายไปมาก

อยุธยา

  ในสมัยช่วงต้นอยุธยา ผู้ชายที่เป็นชาวบ้านทั่วไปมักไม่สวมท่อนบน หรือแม้แต่ขุนนางถึงพระมหากษัตริย์ก็สวมเสื้อบ้างตามแต่ความเหมาะสม หลักฐานหนึ่งที่พบข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายคือกฎมณเฑียรบาล เมื่อ พ.ศ. 1901 สมัยพระเจ้าอู่ทอง มีข้อความส่วนหนึ่งว่า "ขุนหมื่นพระกำนัลก็ดี ราชยานก็ดี อภิรมก็ดี โภกหูกระต่าย เสื้อขาว นุ่งขาว ผ้าเชีงวรรณ”


  เสื้อผ้ายังเป็นอีกหนึ่ง "รางวัล” ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ผู้ประกอบความดีความชอบเช่นรบชนะศัตรู รางวัลเป็นทั้งขันเงิน ขันทอง และ "เสื้อผ้า” ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า "เสื้อ” (แบบอยุธยา) มีปรากฏมานานกว่า 500 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ใส่ในชีวิตประจำวันทั่วไปซึ่งนั่นทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทยสมัยพระนารายณ์มหาราช เมื่อ 300 ปีก่อนอย่างนิโกลาส์ แชร์แวส แสดงความคิดเห็นว่า "อาชีพที่อัตคัดที่สุดในราชอาณาจักรสยามก็คืออาชีพช่างตัดเสื้อ เพราะพลเมืองสามัญเขาไม่สวมเสื้อกัน ขณะที่กางเกงก็เชื่อว่ามีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ศัพท์ที่คนยุคนี้อาจคุ้นเคยกันคือ "สนับเพลา” หมายถึง กางเกงขาสั้นครึ่งน่อง ในกฎมณเฑียรบาลก็มีเอ่ยถึงสนับเพลาไว้ในส่วนพระสนมที่ต้องโทษถึงประหารชีวิต ให้ใส่ "สนับเพลาจึ่งมล้าง” ส่วนผู้หญิงมีทั้งเสื้อ-ผ้าสไบ และผ้านุ่ง หลักฐานเกี่ยวกับเครื่องแต่งตัวเจ้านายผู้หญิงยังปรากฏในกฎมณเฑียรบาล อธิบายว่า ลูกเธอ เอกโท "เสื้อโภคลายทอง” หลานเธอเอกโท "เสื้อแพรพรรณ” แต่เชื่อว่าโดยผู้หญิงทั่วไปแล้วก็นิยมห่มสไบ ท่อนล่างนุ่งผ้าจีบ หรือนุ่งแบบโจงกระเบน เมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี เชื่อว่า การแต่งกายน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงจากสมัยกรุงศรีอยุธยามากนักจากที่กรุงธนบุรีมีระยะเวลาประมาณ 12 ปี และเวลาผ่านมาถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังพบเห็นลักษณะการแต่งกายที่ใกล้เคียงกับกรุงศรีอยุธยา



รัตนโกสินทร์ : รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3

  สมัยรัตนโกสินทร์ ในช่วงต้นยุคตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 เอนก นาวิกมูล บรรยายว่า การแต่งกายยังเป็นแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ผู้ชายเปลือยท่อนบน หรือพาดผ้าบ้าง สวมเสื้อบ้างตามโอกาส แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะขึ้นกับสภาพอากาศและกาลเทศะ สำหรับชนชั้นเจ้านายก็มักพบเห็นภาพถ่ายไม่สวมท่อนบนอยู่หลายรูป แต่ในช่วงฤดูหนาวก็จะมีการแต่งกายอีกลักษณะ ดังที่เห็นจากเนื้อความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีใจความตอนหนึ่งว่า


"…ถ้าฤดูหนาว เจ้าทรงเสื้อสีชั้นเดียว คาดส่านบ้าง แพรสีบ้าง ขุนนางสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัด แพรสี 2 ชั้น ที่ได้พระราชทาน เสนาบดีคาดส่าน ถ้าวันไหนที่ไม่หนาว หรือฤดูร้อน ผู้ใดสวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด…”


  นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับการแต่งกายเมื่อเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์อีก โดยเว็บไซต์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ยกข้อความจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงอธิบายว่า

"ข้าราชการมาจากบ้านมักเอาเสื้อคลุมมาด้วย ถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงฉลองพระองค์ ก็ต้องถอด หนาวแสนหนาวก็ต้องทนเอา บางคราวกำลังเฝ้า พระเจ้าแผ่นดินทรงเรียกฉลองพระองค์มาสวมก็มี จนเป็นที่สังเกตกันว่า เมื่อไรพระถันหด ข้าราชการก็ดีใจจะได้สวมเสื้อ”


  ส่วนการแต่งกายท่อนล่างของผู้ชาย จะนุ่งโจงกระเบนผืนเดียว หรือหากเป็นทหารอาจนุ่งโจงกระเบนทับสนับเพลา สำหรับกรณีที่อยู่ในบรรยากาศแบบตามสบาย บางคนก็อาจนุ่งผ้าลอยชาย หรือปล่อยชายลงมาไม่ม้วนไปเหน็บท้าย ขณะที่ผู้หญิงเมื่อสังเกตจากภาพจิตรกรรมฝาหนัง ก็จะพบว่ายังนุ่งโจงกระเบน ส่วนหญิงชาววังอาจนุ่งจีบ (ใกล้เคียงกับที่ตัวนางที่อยู่ในพวกละครนุ่ง)


รัชกาลที่ 4

ครั้นสมัยรัชกาลที่ 4 การแต่งกายจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามแบบตะวันตกหลังจากติดต่อกับยุโรปมากขึ้น รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้สวมเสื้อเข้าเฝ้าฯ สืบเนื่องจากช่วงก่อนหน้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีข้าราชการมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พลับพลาที่ประทับชั่วคราว ทรงพบว่า ข้าราชการที่เข้าเฝ้าไม่สวมเสื้อ พระองค์ทรงเห็นว่าข้าราชการในประเทศมหาอำนาจสวมเสื้อกันหมด มีเพียงแต่ชาวป่าที่ยังเปลือยท่อนบน ดังพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ตอนหนึ่งว่า

"ครั้งนั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้า จึงดำรัสว่า ดูคนที่ไม่ได้สวมเสื้อเหมือนเปลือยกาย ร่างกายจะเป็นกลากเกลื้อนก็ดีหรือเหงื่อออกมาก็ดี โสโครกนัก…”หลังจากนั้นจึงเริ่มมีธรรมเนียมข้าราชการสวมเสื้อมาเข้าเฝ้า แต่ช่วงแรกยังไม่เป็นแบบแผนที่ชัดเจน ภายหลังจึงเริ่มเป็นเสื้อกระบอกแบบเสื้อบ้าบ๋า (เสื้อของบุตรชาวจีนที่เมืองปัตตาเวีย) ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของเสื้อข้าราชการในราชสำนักในภายหลังก่อนที่รูปแบบตะวันตกจะแพร่หลายในช่วงการปกครองแบบประชาธิปไตย

กรณีนี้หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ยังวิเคราะห์ว่า การที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า ส่วนหนึ่งมาจากที่พระองค์ทรงเคยเป็นพระภิกษุ เมื่อลงอุโบสถกรรม พระสงฆ์ต้องแต่งกายให้เรียบร้อย แต่แทนที่จะทรงนำการแต่งกายของพระสงฆ์มาเทียบ พระองค์ทรงใช้ตัวอย่างประเทศใหญ่มาเปรียบเทียบแทน (หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, 2549) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่ามาจากอิทธิพลจากการติดต่อกับตะวันตก ดังเช่นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงสวมสนับเพลา (กางเกง) และฉลองพระองค์ (เสื้อ) แบบฝรั่งฉายพระรูปหลายครั้ง