ความเป็นมา

รู้จักกับโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ภาคเหนือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมีศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษาในเขตภาคเหนือ และคณะทำงานเข้าร่วมประชุม จำนวน 156 คน ตั้งเป้าหมายโรงเรียนคุณธรรม 1 หมื่นแห่งในปีนี้ และเพิ่มเป็น 3 หมื่นแห่งในปีหน้า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า โครงการโรงเรียนคุณธรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นโครงการเพื่อสืบสานพระราชปณิธาน เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 การเสริมสร้างระบบคุณธรรมจริยธรรมในรอบรั้วสถานศึกษา การก้าวทันยุคโลกาภิวัตน์ การใช้ภาษาต่างประเทศที่มีความไพเราะถูกต้อง การส่งเสริมความกตัญญูกตเวทิตา และความซื่อสัตย์สุจริต

โดยกำหนดเป้าหมายของโครงการโรงเรียนคุณธรรม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนี้

เป้าหมายเชิงปริมาณ ได้กำหนดเป้าหมายของการดำเนินงาน โดยมีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ในปีการศึกษา 2559 ที่กำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 225 เขต และโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 10,000 แห่ง เข้าร่วมโครงการ และขยายผลการดำเนินงานให้มีความครอบคลุมโรงเรียนอย่างน้อย 30,000 แห่ง ในปีการศึกษา 2560 ต่อไป

เป้าหมายเชิงคุณภาพ ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทุกคนมีความตระหนัก รู้เข้าใจ และคิดอย่าง มีเหตุผล ซึมซับคุณค่าแห่งคุณธรรมความดีอย่างเป็นธรรมชาติ สร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ภูมิใจในการทำความดี และร่วมกันสร้างเครือข่ายชุมชนองค์กรแห่งคุณธรรม ด้วยการขอความร่วมมือจากหน่วยงาน และองค์กรที่ทำงานด้านคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ต่อเนื่อง และยั่งยืน

มอบให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อน

ในการดำเนินตามนโยบายดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน โดยได้จัดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย คือ ศึกษานิเทศก์ ผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 225 เขต ๆ ละ 3 คน รวม 675 คน ดังนี้

ภาคกลางและภาคตะวันออก จัดประชุมระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 213 คน วิทยากรและคณะทำงาน จำนวน 35 คน รวมทั้งสิ้น 248 คน

ภาคใต้ จัดประชุมระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 108 คน วิทยากรและคณะทำงาน จำนวน 25 คน รวมทั้งสิ้น 133 คน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 228 คน วิทยากรและคณะทำงาน จำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น 258 คน

ภาคเหนือ จัดประชุมระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 126 คน วิทยากรและคณะทำงาน จำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น 156คน



สรุปผลจากการทำเวิร์คช็อป 4 ครั้งทั่วประเทศ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า จากการที่จัดประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการที่ผ่านมา 4 ครั้ง คณะทำงานได้สรุปผลการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการที่สำคัญ ดังนี้

ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งหมด 675 คน มาประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 653 คน คิดเป็นร้อยละ 97.71 คน โดยจำแนกเป็นแต่ละภูมิภาค ดังนี้

- ภาคกลางและภาคตะวันออก ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 213 คน มาประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 203 คน คิดเป็นร้อยละ 95.31 คน

- ภาคใต้ ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 108 คน มาประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 105 คน คิดเป็นร้อยละ 97.22 คน

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 228 คน มาประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 222 คน คิดเป็นร้อยละ 97.37 คน

- ภาคเหนือ ผู้เข้าประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 126 คน มาประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 123 คน คิดเป็นร้อยละ 97.62 คน