โครงการสำนักงานสีเขียว

หลักการและเหตุผล

มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) โดยเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ผ่าน 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1) “ส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร” (Resources Efficiency) 2 “ส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Society) ซึ่งต่อมาในปี 2561 ปรับเป็น “ส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และการใช้เทคโนโลยีกับนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก” Low Carbon Technology &Innovation เพราะต้องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และ3. “ส่งเสริมให้เกิดพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน” (Community Engagement) โดยเกณฑ์มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco-University) ประกอบด้วยตัวชี้วัด 6 ตัว ได้แก่ 1) วัตถุดิบ 2) พลังงาน 3) น้ำ 4) กากของเสีย 5) อาคาร และ 6) ก๊าซเรือนกระจก

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการประกาศนโยบายการเป็นวิทยาลัยสีเขียว (MS Go Green) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมุ่งหมายเป็นแหล่งเรียนรู้ มีการจัดการบริหารภายในองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้บริการความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดกับนักศึกษาและบุคลากรภายในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ตลอดจนบุคคลภายนอกผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมและติดต่อประสานงานกับวิทยาลัย ให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบในฐานะความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) มีความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Sustainable) ในการจรรโลงรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยปราศจากการทำลายโลก เพื่อความอยู่รอดของชีวิตในรุ่นต่อไป

เพื่อให้เกิดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำโครงการจัดทำ คู่มือการดำเนินโครงการสำนักงานสีเขียว (Green Office) ตาม มาตรฐานกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมขึ้น สําหรับบุคลากรและนักศึกษาในวิทยาลัย คณะทํางานด้าน สิ่งแวดล้อมและพลังงาน คณะทำงานด้านความปลอดภัยและชีวอนามัยที่วิทยาลัยแต่งตั้ง ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเกณฑ์มาตรฐานฯ เป็นอย่างดี โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่มาต่างๆทั้งภายในและภายนอกวิทยาลัย นำมาเรียบเรียงให้เป็นเล่มคู่มือการดำเนินการประกอบด้วย ขั้นตอนการดําเนินงาน (Flow Chart) รายละเอียดการดําเนินงาน ตลอดจนข้อเสนอแนะจากแหล่งข้อมูลหน่วยงานที่มีประสบการณ์ และมีความพร้อมในการส่งเข้าประกวดกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ การติดตามผล และประเมินผลเพื่อการปรับปรุงพัฒนากระบวนการ อันจะนำไปสู่การยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สู่มาตรฐานสํานักงานสีเขียว (Green Office) หรือสํานักงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

วัตถุประสงค์

1.2.1 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในวิทยาลัยในการดำเนินงานสำนักงานสีเขียว

1.2.2 เพื่อรวบรวมขั้นตอนการดำเนินงานสำนักงานสีเขียวตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการดำเนินงานและการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

1.2.3 เพื่อส่งเสริมให้วิทยาลัยเข้าสู่มาตรฐานสำนักงานสีเขียว (Green Office) และสามารถส่งเข้าประกวดกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ที่ได้รับ

1.3.1 วิทยาลัยมีคู่มือเพื่อเป็นแนวทางในการเข้าสู่มาตรฐานสำนักงานสีเขียว ตลอดจนสามารถส่งเข้าประกวดกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

13.2 สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการจัดการสิ่งแวดล้อมของวิทยาลัย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานและทรัพยากรของวิทยาลัย