หน่วยที่ 1

ความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์

  1. หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์

หลักฐานทางประวิติศาสตร์มีความสำคัญอย่างมากในการศึกษาค้นคว้า เรียบเรียงงานทางประวัติศาสตร์ เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ต้องอาศัยหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหลายได้บันทึกไว้ ถ้าไม่มีหลักฐานการศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะไม่ถูกต้องหรือถูกต้องน้อย และอาจเปรียบได้กับนวนิยาย

นอกจากนี้ การรวบรวมหลักฐานเป็นขั้นตอนต้น ๆ ของวิธีการทางประวัติศาสตร์ และถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ซึ่งมีผลต่อขั้นต่อไปของวิธีการทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด ถ้ารวบรวมหลักฐานไม่สมบูรณ์ หลักฐานที่ไม่สำคัญ หลักฐานที่ไม่เป็นกลาง หรือหลักฐานปลอม ก็จะทำให้การวิเคราะห์ การเขียนงานทางประวัติศาสตร์ไม่น่าเชื่อถือ หรือเกิดความผิดพลาดได้

วิธีการทางประวัติศาสตร์

วิธีการทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้

  1. การกำหนดหัวเรื่องที่จะศึกษา

เริ่มจากการเลือกหัวข้อหรือประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ตนสนใจ หรือมีความสงสัยในความรู้เดิมที่ได้รับรู้ ได้ค้นคว้ามา เพราะมีข้อมูลไม่ชัดเจนหรือขัดแย้งกัน ทำให้อยากรู้ว่าเรื่องราวที่ถูกต้องหรือที่น่าจะเป็นจริงคืออย่างไร การกำหนดหัวเรื่องที่จะศึกษาควรเริ่มจากเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา เพราะมีหลักฐานการค้นคว้ามาก

  1. การรวบรวมหลักฐาน

ประวัติศาสตร์ศึกษาจากหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญ และใช้หลักฐานด้านอื่นประกอบ ผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องรวบรวมหลักฐานสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะศึกษาให้มาก

  1. การประเมินคุณค่าของหลักฐาน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้า หรือรวบรวมมาได้ จะต้องมีการวิเคราะห์และประเมินคุณค่า และความสำคัญว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่เป็นของแท้ไม่ใช่ของปลอม มีความเที่ยงตรงถูกต้อง การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐานถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดบกพร่องในการใช้หลักฐาน ก็จะทำให้ขั้นตอนต่อไปลดความถูกต้อง และลดความน่าเชื่อถือลงเช่นกัน

  1. การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการจัดหมวดหมู่ข้อมูล

หลักฐานที่ได้ค้นคว้าหรือรวบรวมมา จะมีทั้งข้อมูลที่ตรงกับความต้องการ และไม่ตรงกับประเด็นที่จะศึกษา ดังนั้น จึงต้องมีการวิเคราะห์ คือ

การแยกแยะประเด็นต่าง ๆ ส่วนการสังเคราะห์ คือ การรวมประเด็น แล้วนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ มาจัดหมวดหมวดหมู่ให้ตรงกับหัวเรื่องที่จะศึกษา

  1. การเรียบเรียงหรือการนำเสนอ

เป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ และเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องนำข้อมูลทั้งหลายมาเรียบเรียงหรือนำเสนอแก่บุคคลทั่วไป

2. หลักฐานทางประวัติศาสตร์

ในการเขียนงานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีความสำคัญในขั้นตอนที่เริ่มทำการศึกษาค้นคว้า ถ้าใช้หลักฐานที่ไม่ดี ไม่น่าเชื่อถือ ผลงานที่เรียบเรียงก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ

2.1 หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร

เป็นหลักฐานที่จารึกเป็นตัวหนังสือ หรือ อักษร เช่น ศิลาจารึก พงศาวดาร จดหมายเหตุ ตำรา เอกสาร หนังสือ คัมภีร์โบราณ

เป็นหลักฐานที่มีความสำคัญ และใช้อ้างอิงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ชัดจนที่สุด

2.2 หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

เป็นหลักฐานที่เป็นวัตถุ มีรูปร่าง เช่น วัด โบสถ์ พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา โครงกระดูก โบราณสถาน โบราณวัตถุ

ภาพเขียน หลักฐานเหล่านี้สามารถใช้ประกอบกับหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรในการศึกษาค้นคว้า ซึ่งจะทำให้ประวัติศาสตร์มี

ความชัดเจนยิ่งขึ้น