ผลลัพธ์การพัฒนาการบริหารการศึกษา

เบญจวิถี วิถีกาญจนา

หลัก “เบญจวิถี วิถีกาญจนา (เทิดทูนสถาบัน กตัญญู บุคลิกดี มีวินัยและให้เกียรติ)” 

หลัก “เบญจวิถี วิถีกาญจนา (เทิดทูนสถาบัน กตัญญู บุคลิกดี มีวินัยและให้เกียรติ)” 

กระบวนการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีของนักเรียน นั้นคือ นักเรียนจะต้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพสง่างาม ประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของครอบครัว โรงเรียนและสังคม อีกทั้งเป็นผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่นและสามารถธำรงเกียรติของตนเองไว้ได้โดยสอดแทรกกิจกรรมไว้ในกิจวัตรประจำวันของผู้เรียน เพราะการศึกษาอยู่ในกิจกรรมทุกอย่างของชีวิต  ครูต้องสร้างระบบวิถีชีวิตที่ดีงาม ทำชีวิตให้เป็นการศึกษาเริ่มจากการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่กิจกรรมหน้าแถวตอนเช้า การร้องเพลงชาติ การสวดมนต์แผ่เมตตาเจริญสติภาวนา การเรียนการให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน การดูแลรักษาความสะอาดร่างกายตนเอง ไปจนถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน การเคารพสิทธิ์และศักดิ์ศรีของตนเองและผู้อื่น ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดังนี้ 

  1.1 กิจกรรมมาดต้องตา หมายถึง กิจกรรมสำหรับนักเรียนที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ การฝึกระเบียบวินัย เช่น การเข้าแถวซื้ออาหาร การทำความเคารพ ฯ เรียนรู้เรื่องการเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียนให้มีความพร้อมทางด้านกายภาพ เช่น ระเบียบการแต่งกายชุดกึ่งพิธีการ ระเบียบการแต่งกายชุดพิธีการฯ ตลอดจนการฝึกกริยามารยาท โดยได้ฝึกปฏิบัติจริงจากคณะวิทยากร

1.2 กิจกรรมเด็กดีศรีกาญจนา หมายถึง กิจกรรมสำหรับนักเรียนที่จะได้เรียนรู้ เกี่ยวกับมารยาทไทย เช่น การไหว้ระดับที่ 1 – 3 การกราบผู้ใหญ่ การเดินผ่านผู้ใหญ่ การยืนต้อนรับพระบรมวงศานุวงค์ ฯลฯ โดยนักเรียนจะได้ปฏิบัติจริงทุกเช้าวันพฤหัสบดีหน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ และปฏิบัติในชั่วโมงคุณธรรม นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังได้ยกย่องและเชิดชูเกียรตินักเรียนที่เป็นเด็กดีศรีกาญจนาที่เป็นแบบอย่างที่ดี  เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตัวนักเรียน อันเป็นการสร้างกำลังใจให้ทำความดีต่อไป

1.3 กิจกรรมตามรอยบาทพระศาสดากาญจนายุวบุตร หมายถึง กิจกรรมสำหรับนักเรียนที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางการปฏิบัติตนในการกิน อยู่ ดู ฟังเป็น ได้ฝึกปฏิบัติจริงจากคณะพระวิทยากร ด้วยการจัดให้นักเรียนเข้าค่ายเป็นประจำทุกปีและทุกระดับชั้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยใช้สถานที่และแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้เคียง ได้แก่พุทธมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลกและวัดไร่ขิง

1.4 กิจกรรมศาสนกิจนำสุขทุกสัปดาห์ หมายถึง กิจกรรมสำหรับนักเรียนที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี โดยให้นักเรียนทำบุญตักบาตรทุกวันอังคาร “กิจกรรมวัดในโรงเรียน” รู้จักการนิมนต์พระ ดูแลพระ อาราธนาศีล ฟังปาฐกถาธรรม สามารถน้อมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี การกรวดน้ำ รับพร โดยการนิมนต์พระจากวัดใกล้เคียง เช่น วัดเทพนิมิต วัดสาลวัน

1.5 กิจกรรมรัตนกาญจนาสาธารณจิต หมายถึง กิจกรรมสำหรับนักเรียนที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเสียสละช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักแบ่งปันความสุขสู่สังคม เช่น การรับบริจาคสิ่งของและทุนทรัพย์จากคณะครู บุคลากร นักเรียนในโรงเรียนและชุมชน นำไปบริจาค พร้อมช่วยพัฒนาโรงเรียนที่ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักชีวิตจริง กตัญญูรู้คุณ มีจิตใจโอบอ้อมอารี เพื่อก่อให้เกิดคุณลักษณะความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี หมายถึง นักเรียนมีพัฒนาการทางด้าน

จิตใจ บุคลิกภาพ และลักษณะนิสัย ในเรื่องต่อไปนี้

2.1 เทิดทูนสถาบัน หมายถึง การมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สำนึกและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส มาปฏิบัติในการครองตน ครองคน ครองงาน โดยมีตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1) ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย 2) ศรัทธา ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักของศาสนา และ 3) เคารพ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

2.2 กตัญญู หมายถึง อาสาช่วยเหลือพ่อแม่ ครูอาจารย์ แสดงความนับถือ ยกย่อง ผู้มีพระคุณ ปฏิบัติให้ผู้มีพระคุณสุขใจ อิ่มใจ ปฏิบัติเป็นปกติวิสัย และเป็นแบบอย่างที่ดี โดยมีตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1) อาสาช่วยเหลือพ่อ แม่ ครู อาจารย์ 2) แสดงความนับถือ ยกย่องผู้มีพระคุณ และ 3) ปฏิบัติตนให้ผู้มีพระคุณสุขใจ อิ่มใจ

 2.3 บุคลิกดี หมายถึง ร่างกายสะอาด สมส่วน สง่างามและสุขภาพสมบูรณ์ แต่งกาย สะอาดเรียบร้อย เหมาะสม รวมถึงพูดจาไพเราะ มีสัมมาคารวะ รู้จักกาลเทศะ เป็นปกติวิสัยและเป็นแบบอย่างที่ดี โดยมีตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1) ร่างกายดี 2) แต่งกายดี และ 3) กิริยามารยาทดี

          2.4 มีวินัย หมายถึง ปฏิบัติตามข้อตกลง กฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับของครอบครัว โรงเรียนและสังคมตรงต่อเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน มีความรับผิดชอบ
ในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย โดยมีตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1) ปฏิบัติตนตามข้อตกลง กฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ 2) ตรงต่อเวลา และ 3) มีความรับผิดชอบ

          2.5 ให้เกียรติ หมายถึง เป็นผู้มีความสุภาพเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ ไม่แสดงตนเหนือ ผู้อื่น มีน้ำใจ เสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่น เคารพพี่ รักเพื่อน ดูแลน้อง เคารพกติกา มารยาทลำดับก่อนหลัง โดยมีตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1) อ่อนน้อมถ่อมตน 2) มีจิตอาสา และ3) เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของตนเองและผู้อื่น