เก็บตกจากการนิเทศ เป็นบทความ ความรู้ต่าง ๆ ที่ศึกษานิเทศได้เรียบเรียงขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเผยแพร่สาระ ความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้สนใจ

กิจกรรม “รู้จัก ก ถึง ฮ ไม่รอ ป.1” กับรอยเชื่อมต่อระหว่างปฐมวัยกับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

กิจกรรม “รู้จัก ก ถึง ฮ ไม่รอ ป.1” กับรอยเชื่อมต่อระหว่างปฐมวัยกับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

 

                                   เบญจมาศ  นุ่มวัฒนะ 

ศึกษานิเทศก์ สพป.กาญจนบุรี เขต 2

 

การศึกษาปฐมวัย เป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์อย่างเป็นองค์รวมบนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติ และพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคน   การสร้างรอยเชื่อมต่อระหวางการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีความสําคัญอยางยิ่งเพราะจะทําใหบุคคลที่เกี่ยวของกับเด็กเข้าใจพัฒนาการการเรียนรูของเด็ก และจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน บุคลากรทุกฝายที่เกี่ยวของจะต้องให้ความสนใจต่อการประสานความเข้าใจในการจัดการศึกษาทั้งสองระดับ ซึ่งจะส่งผลตอตัวเด็กโดยตรง ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอนระดับปฐมวัย และผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปที่ 1 พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรให้การสนับสนุนและช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อใหเด็กสามารถปรับตัว รับความเปลี่ยนแปลงในช่วงการสร้างรอยเชื่อมตอได้เป็นอยางดี

จากการนิเทศติดตามโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 2  ในปีการศึกษา 2563  ได้ค้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างรอยเชื่อมต่อชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 3 กับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นั่นคือเด็กที่เลื่อนชั้นจากอนุบาลศึกษาปีที่ 3 เข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บางคนยังจำพยัญชนะ ก – ฮ ไม่ได้  เนื่องจากเด็กใช้การท่องจำเรียงตามลำดับอักษร ก – ฮ  แต่เมื่อให้อ่านแบบไม่เรียงลำดับจะจำไม่ได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเรียนในวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการบูรณาการกับวิชาอื่น  และการใช้ทักษะสื่อสารในชีวิตประจำวัน  รวมถึงการอ่านเขียนภาษาไทยเมื่อเด็กต้องประเมินเพื่อเลื่อนชั้นเรียนในระดับที่สูงขึ้น   

       กิจกรรม “รู้จัก ก – ฮ  ไม่รอ ป.1” เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการด้านสติปัญญา  เพื่อให้เด็กปฐมวัยอ่านและจำพยัญชนะ ก – ฮ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ  แม้ไม่ได้เรียงลำดับตัวอักษร อันนับว่าเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งสำหรับการสร้างรอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 3 กับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และสอดคล้องกับมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 มาตรฐานที่ 9 ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย  ตัวบ่งชี้ 9.2 อ่าน เขียนภาพ และสัญลักษณ์ได้  ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 2 ได้กำหนดให้มีการประกวดกิจกรรม “รู้จัก ก – ฮ ไม่รอ ป.1” สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 3 ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564  ถึง วันที่ 19 มีนาคม 2564  ผลสำเร็จที่ได้รับนอกจากเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมอ่านและจำพยัญชนะ ก – ฮ โดยไม่เรียงลำดับตัวอักษรได้ถูกต้องแล้ว  ผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครูผู้สอนระดับปฐมวัยยังได้รับการยกย่อง ส่งผลให้เกิดขวัญและกำลังใจในการพัฒนาการศึกษา  รวมถึงผู้ปกครองและชุมชนเกิดความศรัทธาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จของกิจกรรม  เป็นผลมาจากการที่ผู้บริหารโรงเรียนให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย  โดยส่งกิจกรรมเข้ารับการประเมิน   การมีส่วนร่วมของบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  ได้แก่  นักเรียน  คุณครู  กรรมการสถานศึกษา  และผู้ปกครอง  และที่สำคัญคือโรงเรียนมีความพร้อมและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน



สร้างดาวกันคนละดวง

สร้างดาวกันคนละดวง

นิภา  สุขพิทักษ์

ศึกษานิเทศก์ สพป.กาญจนบุรี เขต 2 

                “ดูสิ  ครูคนนั้น เก่งจัง ทำงานคนเดียวตั้งหลายอย่าง”

                “อยากเก่งนัก  ให้ทำคนเดียวไปแล้วกัน”

      

       คุณเคยได้ยินข้อความทำนองนี้บ้างไหม  แล้วคุณคิดอย่างไร สงสาร เห็นใจ หรือสมน้ำหน้า ย้อนกลับมาดูตัวเราและเพื่อนเราในโรงเรียน เราปล่อยให้ทุกคนสร้างดาวกันคนละดวง หรือเราจะร่วมสร้างดาวดวงเดียวกัน

       ในฐานะคนในแวดวงการศึกษา ดวงดาวในการทำงานของพวกเราคืออะไร  “นักเรียน” ใช่หรือไม่ เชื่อว่าพวกเราคงคิดไม่ต่างกัน แต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่ในส่วนของตนที่จะร่วมกันปั้น แต่ง ให้ “นักเรียน” เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ในเมื่อเรามีเป้าหมายเป็นดาวดวงเดียวกัน ทำอย่างไรจะให้ดาวดวงนี้งดงาม สามารถเปล่งแสงในตัวเอง และเผื่อแผ่ไปสู่คนรอบข้างได้  นั่นก็หมายความว่า เราต้องมีภาพความสำเร็จของดาวที่ตรงกันก่อน ซึ่งภาพความสำเร็จของการศึกษาก็คือ มาตรฐานและตัวชี้วัดตามหลักสูตรนั่นเอง

       ลองถามตัวเองว่า วิชา ชั้นที่เราสอนนั้น มีมาตรฐาน/ตัวชี้วัดอะไรบ้าง สามารถบอกได้เลยทันที หรือว่าต้องกลับไปเปิดเอกสารดูก่อน หรือไม่รู้ว่าจะไปดูจากที่ไหน หากยังเป็นประการหลัง ก็น่าสงสารนักเรียนที่ในแต่ละวันที่มาเรียน จะต้องพบเจอกับครูที่ไม่รู้ว่าต้องสอนนักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถอะไร ไม่รู้ว่าภาพความสำเร็จของนักเรียนของตนนั้นเป็นอย่างไร ส่วนวิธีการไปสู่ภาพความสำเร็จนั้น อาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเทคนิค ความถนัดของครูแต่ละคน แต่สิ่งที่ครูทุกคนควรจะต้องตระหนักก็คือ ความรู้สามารถหาได้เพียงลัดมือเดียว (ใช้ Google) ทำอย่างไรจะให้นักเรียนรู้จักวิธีแสวงหาความรู้ ตรวจสอบความรู้ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จนเกิดประโยชน์แก่ตนเอง เกิดประโยชน์ต่อบุคคลอื่น เกิดประโยชน์ต่อสังคม และเกิดประโยชน์ต่อโลก ครูก็เปรียบเหมือนพ่อแม่ของนักเรียน เราเลี้ยงดูเขาได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่อาจอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต ทำอย่างไรนักเรียนของเราจะมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างแข็งแรง เป็นทั้งคนดี คนเก่ง และเป็นคนที่มีความสุข

       และสำหรับพวกเราทุกคน ในอีกด้านหนึ่งก็ล้วนเป็นดาวที่มีแสงในตัวเอง มากบ้าง น้อยบ้าง บางครั้งก็เปล่งประกายอย่างเจิดจรัส แต่บางครั้งก็อาจจะอับแสง โดยเฉพาะในคืนที่มีเมฆมาบดบัง  หากเรายืนหยัดด้วยความอดทน และมีความหวัง แสวงหาหนทางที่จะเดินไปข้างหน้า แม้จะช้า แต่ขอให้มั่นคง สักวันย่อมไปถึงเป้าหมายที่มุ่งหวังไว้ เพื่อสร้างดาวดวงเดียวกัน เมื่อมีแสงแรงกล้า ก็ควรจะเผื่อแผ่แก่เพื่อนครูรอบข้าง  หากหมดแรงอ่อนแสงลง ก็อย่าได้ละอายที่จะยอมรับแสงจากคนอื่นบ้าง เพื่อปลุก กระตุ้นตัวเรา อย่าให้เป็นแบบ “...หันหน้ากันคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวง ช่วงชิงไปสู่สวรรค์ ใครไม่ทันเป็นคนหลงทาง...”

 

------------------------------------------------------

*แรงบันดาลใจจากเพลง “กระต่ายกับเต่า” วงคาราวาน  ฟังเพลง คลิก

ความดี  สร้างได้

ความดี  สร้างได้

                                                                                                                                         สุภาพ จัดละ

                                                                                             ศึกษานิเทศก์ สพป.กาญจนบุรี เขต 2

 

         “ช่วยกันสร้างคนดี ให้บ้านเมือง” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานให้กับคณะองคมนตรี ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม โดยมูลนิธิยุวสถิรคุณและต่อเนื่องมาจนถึงการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน

       เป้าหมายของการพัฒนา ก็คือเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญและอนาคตของชาติที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติทางคุณธรรม  จริยธรรม ทำให้ภาพของสังคมกลายเป็นสังคมที่มีความเสื่อมถอยด้านคุณธรรม จริยธรรม ทุกหน่วยงานจึงร่วมด้วยช่วยกันทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้  แต่ผลที่ปรากฏก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ  โดยเฉพาะการขับเคลื่อนและพัฒนาเรื่องคุณธรรม ในสถานศึกษา  ทั้งๆที่ คุณธรรม เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับด้านวิชาการ เพราะปรากฏอยู่ในคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้แล้ว หน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุน ก็พยายามกำหนดนโยบาย ในรูปแบบของโครงการ กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างเข้มข้นขึ้น เช่น โครงการเสริมสร้างค่านิยมของคนไทย 12 ประการ  โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โครงการโรงเรียนสุจริต   สถานศึกษาพอเพียง  ฯลฯ  จนโรงเรียน (สถานศึกษา)เกิดความเบื่อหน่ายผลที่ได้ก็ยังไม่เกิดตามเป้าหมาย  พอหมดวาระการติดตาม  ก็เลิกทำ ไม่เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  สาเหตุเพราะการพัฒนาเรื่องความดีนั้นเป็นเรื่องที่ทำแล้ว เกิดผลยาก  ความดีเป็นเรื่องนามธรรม ที่จับต้องไม่ได้  ต้องใช้เวลานาน การจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาจะอยู่ท้ายๆของแผนปฏิบัติการ   ขาดความร่วมมือจากบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ผู้บริหารและครูเกิดความท้อแท้ ขาดกำลังใจในการพัฒนา

       โครงการโรงเรียนคุณธรรมสพฐ. จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานคาดหวังว่าจะทำให้การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมภายในสถานศึกษา  มีการพัฒนาเรื่องการทำความดีได้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายได้  โดยใช้แนวทางของมูลนิธิยุวสถิรคุณ ในการให้สถานศึกษาดำเนินการพัฒนาเพราะเป็นการพัฒนาที่ต้องใช้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายภายในโรงเรียน ขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน  ซึ่งขั้นตอนการพัฒนาตามแนวทางของมูลนิธิยุวสถิรคุณ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆดังนี้  

       1.  สร้างความตระหนัก เข้าใจและยอมรับ  ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ครู  นักเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโรงเรียน

       2. สร้างแกนนำ  โดยการพัฒนาศักยภาพของครูแกนนำ  นักเรียนแกนนำ เพื่อให้มีความรู้  ความเข้าใจและระดมสมองในการค้นหา “คุณธรรมเป้าหมาย”และพฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวก พร้อมทั้งออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้คู่ความดี

       3. กำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์เป็นเป้าหมาย

       4. ดำเนินงานโครงงานคุณธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมาย  ทุกคนในโรงเรียนต้องร่วมกันลงมือปฏิบัติ “โครงงานคุณธรรม”(Moral  Project) เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการเรียนรู้การสร้างสรรค์ความดี  ประการสำคัญโครงงานของนักเรียน ต้องเป็นโครงงานที่เด็กคิด  เด็กเลือก เด็กทำ เด็กนำเสนอ และทุกคนมีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติจริง

       5. สร้างแบบอย่างพฤติกรรมด้านคุณธรรม ทุกคนประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีด้านคุณธรรม

       6. พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณธรรม

       7. แลกเปลี่ยนเรียนรู้  การศึกษาดูงานโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ   การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนของโรงเรียนคุณธรรม

       8. ถอดบทเรียน  จากผลการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมของตนเองให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

       หัวใจสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมสพฐ. คือ การแปลงคุณธรรมให้เป็นจริยธรรมหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์  แนวปฏิบัติจึงใช้ตารางคุณธรรมอัตลักษณ์เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน  คุณธรรมอัตลักษณ์ประกอบด้วยคุณธรรมเป้าหมายและพฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวก(พฤติกรรมที่พึงประสงค์) แผนการปฏิบัติงานใช้ “โครงงานคุณธรรม”เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานสร้างสรรค์ความดี  ตัวชี้วัดความสำเร็จได้แก่ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในโรงเรียนลดลงและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น

       ถ้าทุกโรงเรียนได้ดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมดนี้  โดยเริ่มจากพฤติกรรมที่พึงประสงค์เล็กๆก่อน เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนคาดหวังไว้  คือความดี เกิดขึ้นได้แน่นอน และเกิดขึ้นกับบุคลากรที่อยู่ในโรงเรียนได้แก่ผู้บริหาร ครู นักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง  ส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมร่วมกันเพื่อสร้างความดี ความสุขให้เกิดขึ้นในประเทศและยังเป็นการสนองพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกด้วย


.................................................

รอยเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับประถมศึกษาปีที่ 1

รอยเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับประถมศึกษาปีที่ 1

 

                          ศน.เบญจมาศ  นุ่มวัฒนะ

“เชื่อมต่อร้อยประสาน      อนุบาลสู่ประถม

พ่อแม่ครูเกลียวกลม              เด็กสุขสมครูสุขใจ”

                                                                                                 แสงใต้


         การประสานรอยเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 เป็น กิจกรรมขับเคลื่อนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของเด็กปฐมวัย ทำให้สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างราบรื่น แต่ธรรมชาติของเด็กวัยนี้ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น การปรับตัวของเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและการช่วยเหลือจากครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  การขับเคลื่อนดังกล่าวจึงจะประสบผลสำเร็จ

         ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นบุคคลแรกที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างรอยเชื่อมต่อ โดยต้องศึกษาหลักสูตรทั้งระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา จัดระบบการบริหารงานด้านวิชาการที่จะเอื้อต่อการเชื่อมต่อการศึกษา เช่น จัดกิจกรรมให้ผู้สอนทั้งสองระดับมีโอกาสแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ  จัดหาสื่อ วัสดุอุปกรณ์ กิจกรรมให้ความรู้ และจัดทำเอกสารเผยแพร่ให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ

         ผู้สอนระดับปฐมวัย  ศึกษาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองและบุคลากรอื่นๆ เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อ  ส่งต่อผู้สอนคนต่อไป  พูดคุยกับเด็กถึงประสบการณ์ที่ดีๆ เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ในระดับชั้นประถมศึกษา จัดให้เด็กได้มีโอกาสทำความรู้จักกับผู้สอน ตลอดจนสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของห้องเรียนชั้นประถมศึกษา จัดสื่อ วัสดุอุปกรณ์ หนังสือที่ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และมีประสบการณ์พื้นฐานที่สอดคล้องกับรอยเชื่อมต่อในการเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

         ผู้สอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในพัฒนาการเด็กปฐมวัย มีเจตคติที่ดีต่อการจัดประสบการณ์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย จัดกิจกรรมให้เด็กและผู้ปกครองมีโอกาสได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้สอนและห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก่อนเปิดภาคเรียน จัดสภาพห้องเรียนให้ใกล้เคียงกับห้องเรียนระดับปฐมวัย เผยแพร่ข่าวสารด้านการเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน

         ผู้ปกครอง  ศึกษาและทำความเข้าใจหลักสูตรของการศึกษาทั้งสองระดับ จัดเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลาน ร่วมมือกับผู้สอนและสถานศึกษาในการช่วยเตรียมตัวบุตรหลาน

         การเริ่มต้นในสิ่งใหม่ย่อมพบกับอุปสรรคและปัญหาอยู่เสมอ  แต่หากผู้บริหาร  คุณครู  ผู้ปกครอง  และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมมือร่วมใจกัน  การขับเคลื่อนประสานรอยเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ก็จะประสบผลสำเร็จ  อันจะส่งผลให้เด็ก ได้เติบโตและมีพัฒนาการตามวัยอันเหมาะสมต่อไป