รู้จักบริการแนะแนว

หลักการและวัตถุประสงค์

กิจกรรมแนะแนวเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักตนเอง รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถคิดตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา กำหนดเป้าหมาย วางแผนชีวิตทั้งในด้านการเรียนและอาชีพ สามารถปรับตัวได้อย่าง เหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจผู้เรียน ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในการมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน

หลักการ

       เป็นกิจกรรมที่จัดให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการ ความสนใจ ธรรมชาติของผู้เรียนและวิสัยทัศน์ของสถานศึกษาที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัวและสังคม เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรม จนเกิดการเรียนรู้และเกิดทักษะชีวิต โดยมีครูผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมและประสานความร่วมมือกับครู หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

วัตถุประสงค์

       1. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จัก เข้าใจ รักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น

       2. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียน อาชีพ รวมทั้งการดำเนินชีวิตและสังคม

       3. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

ขอบข่ายงานแนะแนว

การจัดกิจกรรมแนะแนวมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ดังนี้

       1. ด้านการศึกษา ให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองในด้านการเรียนอย่างเต็มตามศักยภาพ รู้จักแสวงหาและใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนการเรียน หรือการศึกษาต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีวิธีการเรียนรู้ และสามารถวางแผนการเรียน หรือการศึกษาต่อได้อย่างเหมาะสม

       2. ด้านอาชีพ ให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเองในทุกด้าน รู้และเข้าใจโลกของงานอาชีพอย่างหลากหลาย มีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต มีการเตรียมตัวสู่อาเซียน สามารถวางแผนเพื่อประกอบอาชีพตามที่ตนเองมีความถนัดและสนใจ

       3. ด้านส่วนตัวและสังคม ให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง รักและเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีเจตคติที่ดีต่อการมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพ มีทักษะชีวิต สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

งานบริการแนะแนว

งานบริการแนะแนว ประกอบงานบริการ 5 ด้าน ดังนี้

        1. บริการศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล (Individual Inventory Service)

             บริการศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล เป็นบริการอันดับแรกของบริการแนะแนวเป็นบริการที่ทำให้ผู้แนะแนวและครูสามารถรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ช่วยให้ผู้แนะแนวสามารถรู้จักนักเรียนมากยิ่งขึ้น และสามารถหาทางช่วยเหลือได้ถูกต้องยิ่งขึ้นการศึกษาและสำรวจนักเรียนเป็นรายบุคคล ช่วยให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนว เช่น ผู้บริหาร ครู แนะแนว ครู รวมทั้งบิดามารดาหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถรู้จักและเข้าใจนักเรียนได้อย่างดีการศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล ประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ “การรวบรวมข้อมูล”

            การที่จะสามารถรวบรวมข้อมูลได้ต้องมีหลัก ดังนี้      

            1. ข้อมูลที่ได้ต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจน สามารถเข้าใจง่าย

            2. ข้อมูลที่จัดหาต้องตรงตามความเป็นจริง และเป็นข้อมูลที่สรรหามาอย่างดี

            3. เป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เท่าทันเหตุการณ์ ไม่ล้าสมัย

            4. เมื่อได้ข้อมูลหลาย ๆ อย่างแล้ว ต้องเก็บรวบรวมเข้าด้วยกันจัดให้เข้าพวกเข้าหมูอย่างมีระเบียบ

            5. ข้อมูลที่ได้ต้องเก็บเข้าแฟ้มให้เรียบร้อย เพื่อจะได้สามารถค้นหาได้ง่ายและสามารถนำมาใช้ได้รวดเร็วเมื่อต้องการจะใช้

        2. บริการสนเทศ (Information Service)

           บริการสนเทศให้ความรู้ ข่าวสารต่าง ๆ ทั้งทางด้านการศึกษา การเลือกอาชีพ และการปรับตัวเข้ากับสังคมบริการสนเทศ จะให้ความรู้ข่าวสารนอกเหนือจากการเรียน ช่วยให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นบริการสนเทศ นอกจากจะให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนักเรียนแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนใจที่จะวางแผนการในชีวิต และวางจุดประสงค์ที่จะช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพต่าง ๆ รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่นและสนใจในการปฏิบัติงานนอกจากนั้น บริการสนเทศยังส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ อย่างถูกต้องและเป็นไปตามหลักของธรรมชาติ

          บริการสนเทศ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

            1. บริการสนเทศทางการศึกษา (Educational Information)

            2. บริการสนเทศทางอาชีพ (Occupational Information)

            3. บริการสนเทศทางด้านส่วนตัวและสังคม (Personal Information)        

        3. บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service)

           บริการให้คำปรึกษานับว่าเป็น “หัวใจของบริการแนะแนว” ซึ่งถือว่าเป็นบริการที่สำคัญที่สุดในบริการแนะแนว การบริการแนะแนวที่จัดขึ้นในสถานศึกษาจะขาดบริการให้คำปรึกษาเสียมิได้บริการให้คำปรึกษา จึงเป็นบริการที่ทุกคนรู้จักดีบางครั้งมีผู้สับสนว่าบริการแนะแนวก็คือ บริการให้คำ ปรึกษานั่นเองทั้งนี้เพราะบริการแนะแนวจะจัดบริการให้คำปรึกษาอย่างเป็นทางการ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าบริการอื่น ๆ ความจริงแล้วการบริการให้คำปรึกษานั้นเป็นบริการหนึ่งของบริการแนะแนว

        4. บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service)

         การจัดวางตัวบุคคลเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับบริการต่าง ๆ ข้างต้น เป็นการวางตัวบุคคลให้เหมาะสมกับงานตามที่คัดเลือก เป็นบริการที่ช่วยให้บุคคลได้เรียนตามวิชาที่ตนเองชอบ ช่วยให้มีโอกาสเรียนและประกอบอาชีพตรงตามความสามารถ ของตนเอง เป็นบริการที่จัดขึ้นช่วยเหลือนักเรียนทั้งที่ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียนและสำเร็จการศึกษาไปแล้ว

        5. บริการติดตามผลและวิจัย (Follow-up Service)

         บริการติดตามผล เป็นบริการสุดท้ายของบริการแนะแนว เป็นการติดตามดูว่าการจัดบริการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินไปแล้วนั้น ได้ผลมากน้อยเพียงใด นักเรียนที่ออกจากโรงเรียนไปแล้วนั้นทั้งจบการศึกษาและยังไม่จบการศึกษาประสบปัญหาอะไรบ้าง รวมทั้งการติดตามผลดูนักเรียนที่ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียนและจบการศึกษาไปแล้วว่าประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ วิธีการติดตามผล อาจทำได้ดังนี้

            1. การสัมภาษณ์นักเรียนด้วยตนเอง เพื่อจะได้ทราบถึงผลของการช่วยเหลือว่าประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงใด

            2. การสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดนักเรียน เช่น เพื่อนนักเรียน เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง บิดามารดา เพื่อทราบถึงผลของการบริการ

        3. การส่งแบบสอบถามไปยังนักเรียนที่จบการศึกษาไปแล้ว หรือนักเรียนในโรงเรียนกรอรแบบสอบถาม เพื่อจะได้ทราบผลของการให้บริการ

ที่มา: กระทรวงศึกษาธิการ. (2556). แนวการจัดกิจกรรมแนะแนวตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: สำนักงาน.