ประวัติ

ประวัติโรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม่แจ่ม

โรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม่แจ่ม ถือเป็นโรงเรียนสาธิตลำดับที่ ๕ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเป็นลำดับที่ ๖๗ ของประเทศ โดยได้พัฒนาจากสถานศึกษาชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่ามาเป็นโรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัย โพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม่แจ่ม เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ บนเนื้อที่ ๑๐๘ ไร่ ๔ ตารางวา โดยปัจจุบันตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๑๐๐ บ้านสันเกี๋ยง ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

การเกิดขึ้นของสถานศึกษาพิเศษชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กับโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า และกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งข้อตกลงความร่วมมือ ๔ ข้อ มีสาระสำคัญ ดังนี้

(๑) จัดการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ในบริเวณอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอับดับแรก

(๒) แสวงหารูปแบบการจัดการศึกษาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน

เพื่อสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการนำไปใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง

(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรที่มีอยู่ ศักยภาพ และความเหมาะสม

ตามที่กำหนดไว้ในโครงการและกฎข้อบังคับที่ว่าด้วย ชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า”

ทั้งนี้ ทั้ง ๓ หน่วยงาน ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้ว่าภายใน ๑๐ ปีหรือภายใน ปี ๒๕๕๒ สถานศึกษาชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” แห่งนี้จะมั่นคงแข็งแรง และเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาด้วยหลักสูตรพิเศษให้กับเยาวชนชาติพันธุ์

ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร เสด็จสวรรคต เป็นช่วงเวลาที่นโยบายการศึกษานอกโรงเรียนเกิดความเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือ ตามความคาดหวังที่ต้องการเห็นสถานศึกษาพิเศษ ชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” จะพัฒนาไปสู่ความมั่นคงแข็งแรง แต่ช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกำลังดำเนินการผลักดันนโยบายการพัฒนา มศว ทั้ง ๙ ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อสังคมเป็น ๑ ใน ๙ ยุทธศาสตร์ มีการขับเคลื่อนโดยการจัดตั้งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว ขึ้นแห่งแรกที่จังหวัดสระแก้ว

ข่าวสารการเกิดขึ้นของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว สระแก้ว ทำให้กรรมการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า นายวัชรมงคล เบญจธนะฉัตร ได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนแนวคิดการจัดการศึกษาของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ที่โพธิวิชชาลัย มศว จังหวัดสระแก้ว จากนั้นก็เชิญผู้บริหารและทีมงานวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว ไปเยี่ยมชมการจัดการศึกษาของชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” ที่ ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

จากการมีโอกาสได้เดินทางไปยังชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับนายบุญธันว์ มหาวรรณ ( ประธานอำนวยการโครงการพระเมตตา “สมเด็จย่า” ) กับองค์กรเครือข่ายในพื้นที่และคณะครู จนเกิดความคิดร่วมกันว่า ควรที่จะมีการพัฒนาสถานศึกษาพิเศษ ชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” เป็นโรงเรียนสาธิตฯ มศว แม่แจ่ม ซึ่งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว มีแนวคิดพื้นฐานว่า

(๑) โรงเรียนสาธิตแห่งนี้จะต้องมีจุดแตกต่างที่ต่างไปจากโรงเรียนสาธิตของ มศว ที่มีอยู่ทั้ง ๔ แห่ง และมีความต่างไปจากโรงเรียนสาธิตอีก ๖๖ แห่ง ของประเทศ

(๒) โรงเรียนสาธิตแห่งนี้จะต้องตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนชายขอบ ที่มีปัญหาความยากจน อยู่ในพื้นที่สูงและมาจากพื้นที่ห่างไกล

(๓) โรงเรียนสาธิตแห่งนี้จะต้องมีบทบาทในการสร้างงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ เพื่อการจัดการศึกษานอกระบบ การจัดการศึกษาทางเลือก โดยมีนักเรียนชายขอบ เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก และชุมชนเป็นเป้าหมาย

(๔) โรงเรียนสาธิตแห่งนี้ต้องมีบทบาทในการเป็นโรงเรียนฝึกประสบการณ์ ให้กับหลักสูตรการผลิตครู ที่เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน เพื่อร่วมผลิตบุคลากรทางการศึกษาไปเป็นครูชุมชน ด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนชาติพันธุ์มีโอกาศเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนี้

(๕) โรงเรียนสาธิตแห่งนี้มีฐานมาจากการศึกษานอกระบบ หรือการจัดการศึกษาพิเศษ เมื่อมาเป็นโรงเรียนสาธิตฯ มศว แม่แจ่ม ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จะต้องมีการบริหารจัดการแบบผสมผสานเพื่อสร้างต้นแบบ“ในระบบมีทางเลือก” หรือ “ในทางเลือกมีระบบ” ให้เกิดขึ้นและการอยู่ร่วมกันแบบทวิด้าน

(๖) โรงเรียนสาธิตแห่งนี้จะเป็นต้นนแบบของโรงเรียนสาธิตขนาดเล็ก ที่อยู่ในบริบทชุมชนที่ขาดแคลนเพื่อสะท้อนภาพโครงสร้างของสังคมไทยระดับฐานราก มากกว่าการเป็นโรงเรียนสาธิตของชนชั้นกลาง หรือของชนชั้นนำ ที่มีบทบาทอยู่ในศูนย์กลางอำนาจรัฐ

(๗) โรงเรียนสาธิตแห่งนี้ จะต้องพัฒนาตนเองไปสู่โรงเรียนสาธิตกิจการเพื่อสังคม เพื่อการพึ่งพาตนเอง สร้างทุนการศึกษาให้กับเยาวชนชาติพันธุ์ที่มีฐานะยากจน ผ่านศูนย์ศึกษาพัฒนาจิตอาสาและกิจการเพื่อสังคม

(๘) การขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งโรงเรียนสาธิตฯ มศว แม่แจ่ม แห่งนี้ จะขับเคลื่อนโดยบูรณาการความหลากหลายของฐานคิดและกระบวนทัศน์ทางการศึกษา ที่มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยไม่ยึดติดอยู่กับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง

จากการประสานความร่วมมือ จากการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ได้นำไปสู่การลงนามความร่วมมือ เพื่อพัฒนาสถานศึกษาพิเศษแห่งนี้ ไปเป็นโรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว แม่แจ่ม เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ โดยมีสาระสำคัญ ๔ ประการดังนี้

(๑) การดำเนินการจัดการศึกษาตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

(๒) การดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต วิถีวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยสัมมาชีพ และสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษา ในการศึกษาต่อที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

(๓) ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งและพัฒนาโรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้เป็นโครงการนำร่องต้นแบบการปฏิรูปการศึกษาเพื่อชุมชน ภายใต้หลักการชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา รองศาสตราจารย์สุภา ปานเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี ได้ลงนามรับมอบสถานศึกษาจาก นายบุญธันว์ มหาวรรณ ประธานอำนวยการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ จึงทำให้โรงเรียนสาธิตฯ สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว แม่แจ่ม เป็นโรงเรียนสาธิตลำดับที่ ๕ ของ มศว ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ โดยสังกัดอยู่ภายใต้หน่วยงานของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งการเลือกที่จะสังกัดอยู่ภายใต้หน่วยงานของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นความประสงค์ของโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เพราะเห็นว่ามีแนวคิดและอุดมการณ์ และจุดหมายไปในทิศทางเดียวกัน