โครงการรักษ์ภาษาไทย
โครงการรักษ์ภาษาไทยเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี ๒๕๖๐ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
หลักการและเหตุผล
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรง คุณอันประเสริฐ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานนับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหานครชาวสยามตลอดมา พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์นั้นมากมายมหาศาลสุดจะพรรณนา รัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนชาวไทยและชาวโลกต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนด้วยการศึกษา เป็นอย่างมาก โดยทรงพัฒนาด้านการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน มาโดยตลอด เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงแม้แต่ผู้ที่ด้อยโอกาส และสถานที่ที่ห่างไกลทั้งที่เป็น ชาวไทยภูเขาหรือประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลจากการคมนาคม โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่พี่น้องประชาชนเหล่านั้น ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งองค์ สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับโรงเรียนมัธยมในถิ่นทุรกันดาร ๖ แห่ง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งขึ้น ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงพระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดิทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และส่งเสริมให้โรงเรียนดังกล่าวนั้น ดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตน และครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน และทรงติดตามผลการศึกษา รวมทั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ได้ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่าง ๆ อยู่เสมอ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษา รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงขอน้อมถวายความอาลัย และความจงรักภักดีน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการอัญเชิญพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสอันเกี่ยวกับการศึกษาและ เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียนได้ตระหนักถึงหน้าที่ ภารกิจสำคัญของตน และน้อมนำในแนวพระราชดำริอันเกี่ยวกับการศึกษาและพระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์ ด้านภาษาไทยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงศึกษาภาษาไทย เมื่อทรงเจริญวัยแล้ว เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงศึกษาภาษาไทยบ้างเล็กน้อย จากพระอาจารย์ที่ไปถวายพระอักษร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จนิวัติพระนครครั้งสุดท้าย พระองค์จึงได้ทรงศึกษาภาษาไทยอย่างจริงจัง เพราะทรงถือว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดของไทย
ดังพระบรมราโชวาท
...การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทุกอย่างนั้น
ต้องเริ่มต้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเดิมก่อน เมื่อได้ศึกษา
ทราบชัดถึงส่วนดีส่วนเสียแล้ว จึงรักษาส่วนดีที่มีอยู่แล้วให้คงไว้
แล้วพยายามปรับปรุงสร้างเสริมด้วยหลักวิชา อันประกอบด้วยเหตุผล
และความสุจริต ให้ค่อยเจริญงอกงาม มั่นคงบริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป...
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘