วันสหกรณ์นักเรียน ครั้งแรกในประเทศไทย

วันที่ 7 มิถุนายน 2552

“… เรื่องสหกรณ์โรงเรียนก็เป็นงานหนึ่งที่ข้าพเจ้าพยายามจัดให้มีขึ้นทุกแห่ง..”

          ความตอนหนึ่งในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงพระราชทานลงตีพิมพ์ในหนังสือ 40 ปี โรงเรียน ตชด.เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2539 ถึงแนวพระราชดำริการจัดตั้งสหกรณ์นักเรียนในโรงเรียน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ในการปลูกฝังแนวคิดแนวปฏิบัติตามอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย จึงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ให้มีการจัดตั้งสหกรณ์นักเรียนในโรงเรียนขึ้น โดยเริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้โครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ต่อมากรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสหกรณ์นักเรียน” มีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสหกรณ์นักเรียนระหว่างโรงเรียนต่าง ๆ อีกทางหนึ่งด้วย พระองค์ทรงใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสและเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของ ทุกภาคส่วน ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และมีทักษะในการทำงานร่วมกัน ฝึกการวางแผน ร่วมกันคิดร่วมกันทำและแก้ไขปัญหาตามแนวคิดและวิธีการของสหกรณ์ 

          วันที่ 7 มิถุนายน ของทุกปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำหนดให้เป็นวันสหกรณ์นักเรียน  เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริในการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนวิชาสหกรณ์ในโรงเรียนและปลูกฝังหลักการและวิธีการสหกรณ์ไปสู่เยาวชนผ่านกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ได้มีรับสั่งกับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในขณะนั้น  (นายเสงี่ยม มาหมื่นไวย) ให้จัดการเรียนรู้วิชาการสหกรณ์และดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน โดยเริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้โครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดารทั่วประเทศ และทรงใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสและเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้าน ในชุมชน ซึ่งการปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับหลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่เยาวชน จะช่วยให้เด็ก ได้เรียนรู้และ มีทักษะในการทำงานร่วมกัน ฝึกการวางแผน ร่วมกันคิดร่วมกันทำและแก้ไขปัญหา และทรงมีพระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2535 ความว่า

“…ก็ตั้งใจจะให้เป็นการฝึกนักเรียน  ให้มีความรู้ มีความเคยชินกับระบบการทำงานร่วมกันตามแบบสหกรณ์ ฝึกตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ ได้ชินไป    ต่อมาก็ถ้าเป็นชาวบ้าน เป็นราษฎรเต็มที่แล้วก็จะได้เข้าใจหลักการและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ใหญ่ต่อไปได้…”  และทรงพระราชทานบทความลงพิมพ์ในหนังสือ 40 ปี โรงเรียน ตชด. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2539 ความว่า “… เรื่องสหกรณ์โรงเรียนก็เป็นงานหนึ่งที่ข้าพเจ้าพยายามจัดให้มีขึ้นทุกแห่ง..”

           พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่ให้โรงเรียนดำเนินกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน  มีจุดมุ่งหมาย คือ

         1. เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์  คุณธรรมในการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม  โดยกระบวนการสหกรณ์

         2.ฝึกฝนนักเรียน  ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงานสหกรณ์  เช่น  การทำงานร่วมกัน  การประชุม  การทำบัญชี  การค้าขาย  เป็นต้น

         นอกจากนี้กิจกรรมสหกรณ์นักเรียนยังเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงกับการพัฒนาในด้านอื่นๆ  ทำให้เกิดการบูรณาการกิจกรมต่างๆ  สมบูรณ์ขึ้น 

         สหกรณ์นักเรียนจึงเป็นกิจกรรมของนักเรียน  จัดตั้งขึ้นและดำเนินการโดยนักเรียน  และมีนักเรียนเป็นสมาชิก  ในการจัดสหกรณ์นักเรียน  จะมีครูที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกิจกรรมสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือ  ให้คำแนะนำเด็กนักเรียนในการดำเนินงาน  ตามขั้นตอนตังนี้

        ขั้นตอนที่ 1 รับสมัครเป็นสมาชิก  ด้วยความสมัครใจ  และเปิดกว้างสำหรับนักเรียนทุกคนการสมัครสมาชิกสหกรณ์นักเรียน  จะเก็บค่าหุ้น

        ขั้นตอนที่ 2  ประชุมใหญ่สามัญประจำปี  เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการสหกรณ์นักเรียนมาดำเนินกิจการสหกรณ์  คณะกรรมการสหกรณ์นักเรียนมีวาระในการทำงาน 1 ปีการศึกษา  หรือบางแห่งอาจทำได้บ่อยขึ้นเป็น 1 ภาคการศึกษา

        ขั้นตอนที่ 3 ประชุมคณะกรรมการสหกรณ์นักเรียน เดือนละครั้งเพื่อวางแผนการปฏิบัติงาน  การซื้อ-ขาย การตลาด ฯลฯ

        ขั้นตอนที่ 4 ดำเนินการ  มีกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนให้นักเรียนทดลองปฏิบัติ 3 กิจกรรม ได้แก่  กิจกรรมร้านค้า  กิจกรรมออมทรัพย์และกิจกรรมส่งเสริมการผลิต

        ขั้นตอนที่ 5 การทำบัญชีประจำวัน  มีทั้งบัญชีรับ – จ่าย  บัญชีสินค้า บัญชีสมาชิก ฯลฯ  สรุปบัญชี  ผลกำไร/ขาดทุน  และนำข้อมูลมาวางแผนต่อไป

        ขั้นตอนที่ 6 สรุปผลการดำเนินงานตามวาระของคณะกรรมการสหกรณ์นักเรียน  จัดสรรผลกำไร  เป็นเงินปันผลให้แก่สมาชิก  บางส่วนสะสมไว้เป็นเงินทุนของสหกรณ์และเป็นเงินบริจาคสำหรับทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 

        ตลอดขั้นตอนของการดำเนินงาน  เด็กนักเรียนจะได้รับการปลูกฝังและพัฒนาทักษะและลักษณะนิสัยของการพึ่งตนเอง  การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม  การทำงานร่วมกันอย่างมีระบบและแบบแผน  การจดบันทึก  การจัดทำบัญชี  หลักประชาธิปไตย

สหกรณ์นักเรียนตามพระราชดำริ  จะช่วยเชื่อมโยงโครงการต่างๆในโรงเรียน เช่น

- การเกษตร  สหกรณ์นักเรียนรับซื้อผลผลิตจากฟาร์มของโรงเรียน  หรือแม้แต่ของที่ผลิตได้ในท้องที่  มาวางจำหน่ายให้แก่โรงครัว  ผู้ปกครอง  และชุมชน

- การประกอบอาหารกลางวัน  โรงครัวของโรงเรียนซื้อวัตถุดิบจากฟาร์มโรงเรียนที่มีคุณภาพ  ปลอดภัย  และราคาถูกกว่าท้องตลาดจากสหกรณ์  นอกจากนี้สหกรณ์ยังช่วยหาซื้อเครื่องปรุง  ของแห้งมาจำหน่ายด้วย

- การฝึกอาชีพ  เช่นการแปรรูปอาหารหรือหัตถกรรม  อาจต้องใช้เงินลงทุน  สหกรณ์จึงเป็นแหล่งเงินทุนให้กลุ่มกู้ยืม  หรือหากต้องซื้อวัตถุดิบบางอย่าง  สหกรณ์สามารถซื้อในราคาขายส่งมา  แล้วมาขายให้สมาชิก  และเมื่อมีผลงานที่ผลิตได้  ก็นำมาขายผ่านสหกรณ์  เพราะเป็นศูนย์รวม  ทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคน

- การพัฒนาทักษะของนักเรียนในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารบริโภค  โดยผ่านร้านสหกรณ์  เช่นการเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย อย. การดูวันที่ผลิต  วันหมดอายุ