การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส
ในการดำเนินงานของสถานศึกษาออนไลน์ (ITA)

ความเป็นมา

          สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(สํานักงาน ป.ป.ช.)ได้พัฒนาเครื่องมือการประเมินเชิงบวกเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดําเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม โดยใช้ชื่อว่า “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)” เป็นกลยุทธ์ที่สําคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งถือเป็นการยกระดับให้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ให้เป็น “มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุก” ที่หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ จะต้องดําเนินการ โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน ได้รับทราบผลการประเมินและแนวทางในการพัฒนาและยกระดับหน่วยงานในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานได้อย่างเหมาะสม และที่ผ่านมาพบว่า หลายหน่วยงานนําการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐไปเป็นกรอบในการพัฒนาและยกระดับการบริหารการจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการและการอํานวยความสะดวกต่อประชาชน ให้เข้าถึงการบริการสาธารณะด้วยความเป็นธรรมผ่านการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน มีการประกาศขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการอย่างชัดเจน นอกจากนี้ในด้านบริหารจัดการในหน่วยงาน ก็ยังพบว่าหน่วยงานให้ความสําคัญกับการป้องกันในประเด็นที่อาจเป็นความเสี่ยงหรือเป็นช่องทางที่อาจจะก่อให้เกิดการทุจริต การรับสินบนหรือก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และสามารถยับยั้งการทุจริตหรือผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทันสถานการณ์ซึ่งเมื่อหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศมีการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในลักษณะดังกล่าว ก็จะทําให้การทุจริตในภาพรวมของประเทศลดลงได้ในที่สุด ตลอดจนยังผลักดันให้เกิดทิศทางการพัฒนาและปรับปรุงการทํางานภายในหน่วยงานในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

        การดําเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสําเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าร่วมเป็นอย่างดีและได้รับเสียงสะท้อนว่าการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐนั้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หน่วยงานที่รับการประเมินได้มีการตรวจสอบและสอบทานตนเอง มีการปรับปรุงการดําเนินงานให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลในส่วนที่ยังขาดตกบกพร่อง มีการพัฒนาระบบงานให้เกิดความโปร่งใส มีการปรับปรุงการบริหารงานและการปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรมทั้งต่อบุคลากรในหน่วยงานและต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหน่วยงานได้เป็นอย่างดี

         ปัจจุบันการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ถูกกําหนดเป็นตัวชี้วัดและ ค่าเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยในระยะแรก (พ.ศ. 2561 – 2565) กําหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ (85 คะแนนขึ้นไป) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

         สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากจะเป็นหน่วยงานระดับกรมที่รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานจากสํานักงาน ป.ป.ช. แล้ว ยังเป็นหน่วยงานที่นําเครื่องมือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ไปขยายผลเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานในสังกัด โดยการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา จํานวน 225 เขตอย่างต่อเนื่อง และได้พัฒนานวัตกรรมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาในรูปแบบออนไลน์ โดยมีแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมการประเมินด้วยระบบ ITA Online เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูล รวดเร็วในการวิเคราะห์และประมวลผลโปร่งใสตรวจสอบได้ด้วยระบบเวลาจริง (Real-time system) และการประเมินมีประสิทธิภาพ ลดภาระงานด้านเอกสาร (Paperless) ของสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับการประเมินโดยปรับปรุงระบบการเก็บข้อมูลให้เป็นแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ

         ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สํานักงาน ป.ป.ช. โดยศูนย์ประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ  ได้พัฒนาเกณฑ์การประเมินให้เกิดการสนับสนุนต่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) โดยได้สังเคราะห์ผลการวิจัยเรื่องแนวทางการปรับปรุงและแนวการพัฒนาเครื่องมือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนําไปสู่การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทยให้สูงขึ้น และพัฒนาเกณฑ์การประเมินให้สามารถป้องกันการทุจริตเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการเครื่องมือส่งเสริมด้านคุณธรรมและความโปร่งใสจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ําซ้อนของการดําเนินการ และมุ่งเน้นการร่วมดําเนินการขับเคลื่อนด้านธรรมาภิบาลในภาพรวมของประเทศ ส่งผลให้หน่วยงานราชการที่ได้รับการประเมิน ได้ประโยชน์จากการประเมิน และนําผลการประเมินไปการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และได้รับประโยชน์ในมุมของการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร โดยเฉพาะการแสดงให้สังคมและสาธารณชนรับรู้ว่าหน่วยงานให้ความสําคัญกับการเปิดเผยข้อมูลและการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานอย่างไร และการดําเนินการดังกล่าว ไม่เป็นต้นทุนหรือภาระของหน่วยงานมากเกินไป รวมทั้งต้องไม่เป็นภาระกับบุคคลที่เข้าร่วมกระบวนการประเมินด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่