โรงเรียนสุจริต สพฐ. 

สำนักงาน ป.ป.ช.

รู้จักกับโครงการโรงเรียนสุจริต 

          โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า "โครงการโรงเรียนสุจริต" เป็นโครงการที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) กับสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อตอบสนองต่อแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 6 (พ.ศ.2566 - 2570) โดยใช้แผนฯ เป็นเครื่องมือสําหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นําไปกําหนดแนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อขับเคลื่อนจากนโยบายสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลสําเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
          โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) นี้ เริ่มดําเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการในปีแรก 225 โรงเรียน ซึ่งถูกกําหนดให้เป็น "โรงเรียนสุจริตต้นแบบ" และได้มีการขยายเครือข่ายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นทุกปี จากร้อยละ 10 ร้อยละ 20 ร้อยละ 30 และร้อยละ 40 ตามลําดับ จนกล่าวได้ว่ามีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนสุจริตครบทุกแห่งในปี พ.ศ. 2560 จุดเน้นสําคัญของโครงการโรงเรียนสุจริตคือ เพื่อพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เกิดคุณลักษณะ 5 ประการ ได้แก่ 1) ทักษะกระบวนการคิด 2) มีวินัย 3) ชื่อสัตย์สุจริต 4) อยู่อย่างพอเพียง และ 5) จิตสาธารณะ (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า คุณลักษณะ 5 ประการของโครงการโรงเรียนสุจริต) โดยดําเนินการตามแนวทางของปฏิญญาโรงเรียนสุจริต ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน ด้านการปลูกฝังและด้านการสร้างเครือข่าย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่โครงการกําหนดไว้ทั้งนี้สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีการปรับปรุง เพิ่มหรือลดกิจกรรมในแต่ละปีตามบริบทและความเหมาะสม กิจกรรมที่ส่งเสริมให้โรงเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริตดําเนินการมีหลากหลายกิจกรรม เช่น ๑) กิจกรรม ป.ป.ช. สพฐ.น้อย และป.ป.ช. สพฐ.ชุมชน 2) กิจกรรมถอดบทเรียน Best Practice 3) กิจกรรมบริษัทสร้างการดี 4) กิจกรรมสร้างสํานึกพลเมือง (Project Citizen) 5) กิจกรรมสร้างสรรค์ต่อต้านการทุจริตผ่านสื่อภาพยนตร์สั้น และ 6) กิจกรรมค่ายเครือข่ายผู้นําเยาวชนไทยหัวใจ STRONG ทั้งนี้ได้มีการจัดทํามาตรฐานโรงเรียนสุจริตและแนวทางการดําเนินกิจกรรมขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียนพัฒนาตนเองให้บรรลุตามเป้าหมายของโครงการได้อย่างราบรื่น ซึ่งมาตรฐานและแนวทางดังกล่าว  สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถใช้ในการนิเทศ แนะนําช่วยเหลือให้โรงเรียนดําเนินการตามโครงการโรงเรียนสุจริตได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้ สํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษายังได้ทําการวิจัยรูปแบบการพัฒนาโรงเรียนสุจริต และริเริ่มแนวทางการดําเนินการประเมินโรงเรียนสุจริตพระราชทานขึ้น เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนสุจริตที่ดําเนินการบรรลุเป้าหมาย "คุณลักษณะ 5 ประการของโครงการโรงเรียนสุจริต" มีผลงานเชิงประจักษ์ปรากฏเด่นชัด มีโอกาสเข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน เป็นขวัญกําลังใจให้แก่โรงเรียนที่ทุ่มเทพัฒนาในการสร้างคนดีให้บ้านเมืองอันจะส่งผลให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
          อย่างไรก็ตาม สํานักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) เห็นความจําเป็นเร่งด่วนในการเร่งรัดการขับเคลื่อนแนวคิดที่ประชาชนต้องไม่ทนต่อการทุจริต ในทุกระดับการศึกษาด้วยการปลูกฝังจิตสํานึกในการแยกแยะประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ รู้จักอยู่อย่างพอเพียง มุ่งสร้างพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับและไม่ทนต่อการทุจริต และเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการจัดการเรียนรู้ในการศึกษาทุกระดับ จึงได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีสถานศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จัดทําหลักสูตร/ชุดการเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียนรู้ด้านการป้องกันการทุจริต โดยขอความร่วมมือให้หน่วยงานการศึกษาแต่ละระดับศึกษา นําไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ทั้งการศึกษาในระบบและ การศึกษานอกระบบ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ได้เริ่มดําเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะองค์กรรับผิดชอบการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้มอบหมายให้สํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทํารายวิชาเพิ่มเติม "การป้องกันการทุจริต" ประกอบด้วยเนื้อหา 4 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม 2) ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต 3) STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริตและ 4) พลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทั้งจัดทําแผนการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร ครบถ้วนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และส่งให้โรงเรียนทุกแห่งในสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นําไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุผลตามที่กําหนดไว้ในหลักสูตรและเกิดคุณลักษณะ 5 ประการ ของโครงการโรงเรียนสุจริต โดยให้โรงเรียนเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา

คุณลักษณะ 5 ประการ ของโรงเรียนสุจริต 

คุณลักษณะของโรงเรียนสุจริต  หมายถึง คุณลักษณะ 5 ประการของโรงเรียนสุจริต คือ ทักษะกระบวนการคิด มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง มีจิตสาธารณะ 
1.  ทักษะกระบวนการคิด  หมายถึง  นักเรียนมีความสามารถในการจำแนก เปรียบเทียบ  ให้เหตุผล  มีวิจารณญาณแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ได้ว่าสิ่งใดควรประพฤติปฏิบัติ และไม่ควรประพฤติปฏิบัติ  ไม่ให้เกิดการการกระทำใด ๆ เพื่อตนเอง  หรือผู้อื่นให้ได้รับผลประโยชน์ที่ไม่มีสิทธิ์จะได้รับโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง  ไม่ซื่อสัตย์
2.  มีวินัย  หมายถึง  นักเรียนมีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตนเองและปฏิบัติตามข้อตกลง  ข้อบังคับ  กติกา  ระเบียบ  กฎหมายของครอบครัว  โรงเรียน  สังคม  และยอมรับผลที่เกิดจากการปฏิบัติเคารพสิทธิของผู้อื่นและเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชน  สังคมประเทศชาติและสังคมโลก
3.  ซื่อสัตย์สุจริต  หมายถึง  นักเรียนแสดงออกถึงความประพฤติตรงตามความเป็นจริงต่อตนเอง  ครอบครัว  สังคมและโลกทั้งทางกาย  วาจา  และใจ
4.  อยู่อย่างพอเพียง  หมายถึง  นักเรียนมีการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  มีภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
5.  มีจิตสาธารณะ  หมายถึง  นักเรียนมีการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจไม่หวังผลตอบแทน  เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  โรงเรียน  ชุมชน  สังคม 

ข่าวสารประชาสัมพันธ์


ภาพกิจกรรมการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนสุจริต 

วันที่ 15 ธันวาคม 2566
สพป.นครสวรรค์ เขต 1 จับมือ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ว่าที่ร้อยเอก ดร.สาโรช ยกให้ ผู้อำนวยการ สพป.นครสวรรค์ เขต 1 มอบหมายให้ ดร.ศุภวิชญ์ ดิษเจริญ รองผู้อำนวยการสพป.นครสวรรค์ เขต 1 พร้อมด้วยคณะศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริต ประชุมร่วมกับนายอภินันท์ เรืองประเภท ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครสวรรค์ นางสาวนิตติยา ศรชัย หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต นางขวัญฤทัย ฤทธิ์เรืองเดช เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ นางสาวนัฐธีรา ปั้นหมวด เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ และนางสาวชลิดา ไชยรัตนฉัตร เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการเพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและการใช้ระบบการเรียนรู้แพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา ณ ห้องประชุมรวมใจ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 

วันที่ 6-9 ธันวาคม 2566
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน การประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับประเทศ และกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (9 ธันวาคม)  

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566
ประชุมโครงการพัฒนาหลักสูตรและสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครสวรรค์) กิจกรรมการประชุมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาระดับพื้นที่ ณ ห้องประชุมแสงเทียน ศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ 

วันที่ 6-8 กันยายน 2566
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำเสนอผลงาน และการประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับภูมิภาค 

วันที่  23 สิงหาคม 2566
คณะกรรมการคัดเลือกกิจกรรมโรงเรียนสุจริต โดยมีว่าที่ร้อยเอกสาโรช ยกให้ ประธานที่ปรึกษาให้ข้อคิดในการคัดเลือกผลงานในครั้งนี้ให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อได้ตัวแทนระดับเขตพื้นที่เข้าร่วมประกวดแข่งขันระดับภูมิภาค 

วันที่ 30 มิถุนายน 2566
นางวิลาวัลย์ ฮ้อสิทธิสมบูรณ์ และนางมณฑิรา บุตโยธี  ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 เป็นวิทยากรการบรรยายการอบรมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในในการดำเนินงานของสถานศึกษาออนไลน์ (Interity and Transparency Assessment Online : ITA Online) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีท่าน ดร.กนก ยนต์ชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุทัยธานี ชัยนาท เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โดยมีบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดเข้าร่วมการอบรม ณ ห้องประชุมหลวงวิจิตรวาทการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุทัยธานี ชัยนาท

วันที่ 11 มิถุนายน 2566
ประชุมเชิงปฏิบัติการ การดำเนินกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนสุจริตและการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา รายวิชาเพิ่มเติม “การป้องกันการทุจริต”   ณ ห้องประชุมศรีนครสวรรค์ มีครูผู้รับผิดชอบโครงการเข้าร่วมประชุม 150 คน


วันที่ 10 มิถุนายน 2566
ประชุมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสถานศึกษาออนไลน์  ณ ห้องประชุมศรีนครสวรรค์ มีครูผู้รับผิดชอบโครงการเข้าร่วมประชุม 150 คน


วันที่ 2 - 3 พฤษภาคม 2566
เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ “รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต” ระดับปฐมวัย ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัส แวนด้าแกรนด์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2566
ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริตเข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-2 มี.ค. 2566 ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร

นางมณฑิรา บุตโยธี  และนางวิลาวัณย์ ฮ้อสิทธิสมบูรณ์ ศึกษานิเทศก์ ผู้จัดทำ ติดต่อเรา  081-2402218