วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)
ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการป้องกันอาชญากรรมด้านไซเบอร์
ทักษะดิจิทัล ก้าวสู่ พลเมืองในศตวรรษที่ 21
ก่อนจะทราบถึงทักษะด้านดิจิทัล ขอให้คำนิยามความหมายของประโยคที่ว่า "ความเป็นพลเมืองดิจิทัล" ที่ทุกประเทศทั่วโลกคาดหวังให้เกิดขึ้นในประชากรของตน คือ "พลเมืองผู้ใช้งานสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้าใจบรรทัดฐาน ของการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม และมีความรับผิดชอบในการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารในยุคดิจิทัลเป็นการสื่อสารที่ไร้พรมแดนจำเป็นต้องมีความฉลาดทางดิจิทัล (DQ: Digital Intelligence) "
ความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient : DQ) คือ กลุ่มของความสามารถทางสังคม อารมณ์ และการรับรู้ ที่จะทำให้คนคนหนึ่งสามารถเผชิญกับความท้าทายบนเส้นทางของชีวิตในยุคดิจิทัล และสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตดิจิทัลได้ ความฉลาดทางดิจิทัลครอบคลุมทั้งความรู้ ทักษะ ทัศนคติและค่านิยมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในฐานะสมาชิกของโลกออนไลน์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทักษะการใช้สื่อและการเข้าสังคมในโลกออนไลน์
การเป็นพลเมืองดิจิทัล มีทักษะสำคัญ 8 ประการ
1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity)
2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management)
3. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking)
4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management)
5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management)
6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints)
7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management)
8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy)
ที่มา : บทความเรื่อง “พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)” โดย Phichitra Phetparee| เผยแพร่บนเว็บไซต์ สสส. (วันที่ 27 มีนาคม 2562)
เอกสารวิชาการออนไลน์เรื่อง “คู่มือพลเมืองดิจิทัล” โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง เผยแพร่ครั้งแรก: มิถุนายน 2561
ความปลอดภัยทางไซเบอร์ หมายถึง วิธีลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กร ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อการปฏิบัติงาน การปกป้องอุปกรณ์ และบริการที่พวกเขาใช้ การโจมตีทางไซเบอร์มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200,000 เหรียญสหรัฐ การโจมตีนี้ไม่คำนึงถึงขนาดของบริษัท หลังจากโดนการโจมตี บริษัทกว่า 60% ปิดตัวลงภายในครึ่งปี เนื่องจากปัญหาทางการเงิน ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องบริษัทหน้าใหม่ๆหรือบริษัทที่ดำเนินกิจการมานาน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกแฮกข้อมูล
Cyber Security คืออะไร?
Cybersecurity เป็นเพียงกลยุทธ์ที่บริษัทใช้ในการปกป้องสินทรัพย์ดิจิทัลจากการแฮก การโจมตี การใช้งานกลยุทธ์ อาจรวมถึงเทคโนโลยี ขั้นตอนและมาตรการรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ สำหรับระบบอุปกรณ์และข้อมูลได้รับการออกแบบมา เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่เก็บไว้ในสื่อทางกายภาพหรือสื่อออนไลน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต Cybersecurity ไม่เหมือนกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างขึ้น รวมถึงทรัพย์สินข้อมูลทั้งหมด เช่น สำเนาเอกสารที่เป็นกระดาษ
ที่มา : https://www.bitdefender.co.th
รูปแบบของภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดในไทย
การหลอกลวงบนพื้นที่ออนไลน์ มีหลากหลายประเภท ได้แก่ แชร์ลูกโซ่ (Ponzi scheme) การหลอกลวงข้อมูลทางออนไลน์ (Phishing) การหลอกลวงด้านความรัก (Romance scam) การหลอกลวงเพื่อประโยชน์ทางการเงินหรือการฉ้อโกงผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ (Call-Center scam) นอกจากนั้นยังพบว่ามีขบวนการค้ามนุษย์ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือหลอกลวงชักชวนประชาชน ในการค้าแรงงาน และการหลอกลวงที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากคือการเจาะระบบรหัสคูปองส่วนลดของร้านค้าออนไลน์แล้วนำออกจำหน่าย เช่น ร้านฟ้าสต์ฟู้ด แอพขายตั๋วภาพยนตร์
การขายยาเสพติดออนไลน์ โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และใช้ไปรษณีย์เป็นช่องทางหลักในการขนส่ง โดยการสื่อสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นกลุ่มปิดทำให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างยากลำบาก
การขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา โดยการใช้เว็บไซต์ e-commerce และสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ขายสินค้า
โดยเมื่อมีการตรวจค้นจับกุม ผู้ขายมักจะนำสินค้า ออกจากระบบและนำขึ้นทำการขายใหม่เมื่อเจ้าหน้าที่ละเลยการตรวจค้น
การขายภาพลามกอนาจารเด็ก ในห้วงที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแห่งสหรัฐอเมริกาและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศที่เกี่ยวข้อง ทำการสืบสวนสอบสวนและจับกุมชาวต่างชาติที่ทำการบันทึกภาพการล่วงละเมิดเด็กเพื่อขายในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา
การพนันออนไลน์ การพนันออนไลน์ถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการก่ออาชญากรรมประเภทอื่น โดยเว็บไซต์เหล่านี้มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งนี้ เซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์พนันออนไลน์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่และจดทะเบียนในต่างประเทศ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อติดตามและปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์มีข้อจำกัด
การเรียกค่าไถ่จากข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส (Ransomware) ปัจจุบันสถิติเกี่ยวกับ Ransomware มีจำนวนน้อยลง อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนที่เป็นเป้าหมายส่วนใหญ่มักจะปกปิดข้อมูลการถูกโจมตี เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านความน่าเชื่อถือ จึงไม่สามารถดำเนินกระบวนการทางกฎหมายและการจับกุมผู้กระทำความผิดได้
ปัญหาจากการดำเนินการ พบว่า ปัญหาในด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ดังนี้
ในด้านกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดคำนิยามคำว่าอาชญากรรมไซเบอร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้การกำหนดฐานความผิด
เกี่ยวกับการประกอบอาชญากรรมโดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด การใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเป้าหมายในการโจมตี และ
การนำเข้าข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นที่ประชุมจึงเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
ให้ครอบคลุมฐานความผิดด้านอาชญากรรมไซเบอร์ด้วย
ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย UNODC ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์เฉพาะด้าน
ในระดับชาติ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงช่วยลดระยะเวลาในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ซึ่งเป็นคดีที่กระทำความผิดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กระบวนการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้มีจำนวนผู้กระทำความผิดและเหยื่อเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน
แนวโน้มภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปี ๒๕๖๓
บริษัท Cyber Intelligence House ซึ่งทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงและให้คำปรึกษาด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แก่ UNODC ได้นำเสนอแนวโน้มภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในปี ๒๕๖๓ ใน ๘ ประเด็น ได้แก่
๑) การโจมตีโดยวิเคราะห์จากประวัติการโจมตีและการถูกคุกคาม (Attack & Previous Compromises)
๒) การเปิดเผยข้อมูลความลับส่วนบุคคล (Disclosure of sensitive information)
๓) การสนทนาเกี่ยวกับข้อมูลสำคัญขององค์กร (Discussions)
๔) การซื้อขายสินค้าในตลาดมืดออนไลน์ (Black markets)
๕) การโจมตีข้อมูลทางการเงิน (Financial information)
๖) การเปิดเผยข้อมูลการระบุตัวตนเพื่อเข้าสู่ระบบหรือรหัสอื่นๆ (Exposed credentials)
๗) การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ (Personally identifiable information)
และ ๘) การตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มแฮกเกอร์ (Hacker group targeting)
ดาร์กเว็บ (Dark Web) เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่จำเป็นต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายบนดาร์กเว็บจำนวนมาก อาทิ การซื้อขายบัญชีธนาคาร บัญชีบัตรเครดิต หนังสือเดินทางข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนการซื้อขายยาเสพติด อาวุธ และการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติโดยที่การเข้าถึง Dark Web ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้บริการและประเภทของเว็บไซต์ที่ถูกใช้บริการ จึงยากต่อการตรวจสอบและเป็นปัญหาในเชิงการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจติดตามถึงการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์เหล่านี้
ที่มา : สภาความมั่นคงแห่งชาติ https://www.nsc.go.th/