ประวัติความเป็นมา

มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้รับนิมนต์มาเป็นวิทยากรที่ศูนย์วางแผนครอบครัว ได้มาจำวัดที่ศาลาของพ่อบุญเย็น

ในคืนนั้นฝันว่ามีนักรบสมัยโบราณมาหาแล้วชี้บอกว่าเมืองของเขาอยู่ตรงนั้น (ตรงที่สร้างอนุสาวรีย์ในปัจจุบัน) อะไรก็มีหมด ช้างก็มี เสือก็มี อยากได้ม้าสีแดง พระภิกษุรูปนั้นจึงได้นำความฝันนี้ไปบอกแก่นายอำเภอชัยโรจน์ ประภาสวัด นายอำเภอห้างฉัตรสมัยนั้น นายอำเภอชัยโรจน์ฯ จึงได้สอบถามคุณชล ว่องสวัสดิ์ ว่าเมืองเก่าที่อยู่บริเวณนี้อยู่ตรงไหน คุณชลฯ จึงแนะนำให้ไปสอบถามกำนันยัง อินถานะ กำนันตำบลห้างฉัตรในสมัยนั้น ทำให้ทราบว่าเมืองเก่าตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงตาล เป็นบริเวณที่มีน้ำล้อมรอบ มีเนื้อที่ประมาณ 204 ไร่ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของอำเภอห้างฉัตรได้ประชุมกันและตกลงสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อขุนตานทรงม้า โดยมีคุณชล ว่องสวัสดิ์ เป็นประธานในการก่อสร้าง แต่ยังขาดงบประมาณ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และคณะสงฆ์ทั้งอำเภอห้างฉัตรได้ร่วมกันจัดทอดผ้าป่า เพื่อนำเงินมาก่อสร้างอนุสาวรีย์ในการทอดผ้าป่าได้เงินจำนวน 10,000 บาท จึงได้ว่าจ้างช่างจากอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มาก่อสร้างอนุสาวรีย์ ก่อนการก่อสร้างได้ไปสำรวจสถานที่เพื่อก่อสร้าง ครั้งแรกตกลงจะสร้างตรงบริเวณด้านซ้ายมือของอนุสาวรีย์ปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งคุ้มหลวงของเจ้าพ่อขุนตาน (มีมีซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างเก่าอยู่บริเวณนั้น) นายอำเภอชัยโรจน์ฯ จึงขอให้พัฒนาที่ดินจังหวัดลำปางใช้รถแทรกเตอร์ไถ แต่ไม่สามารถไถออกได้ (ในฝันคืนนั้นคนขับรถแทรกเตอร์ฝันว่า มีคนแก่ใส่หมวกนักรบสมัยโบราณมาบอกว่าอย่าไถที่นี่ เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์) จึงไม่กลับทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น นายอำเภอชัยโรจน์ฯ และคณะจึงร่วมกันคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร ในภายหลังได้ย้ายจากจุดเดิมและเห็นพ้องต้องกันว่าจุดธูปตรงบริเวณที่สร้างอนุสาวรีย์ปัจจุบันและอธิษฐานว่าจะขอสร้างตรงบริเวณนี้ ถ้าสร้างไม่ได้ให้มาเข้าฝันอีกครั้ง จากนั้นเวลาล่วงเลยไป 6 ถึง 7 วันไม่มีผู้ใดมาเข้าฝัน นายอำเภอชัยโรจน์ฯ และคณะตกลงสร้างอนุสาวรีย์บริเวณที่ก่อสร้างในปัจจุบัน โดยลงมือก่อสร้างในวันที่ 12 พฤษภาคม 2528 ในสมัยร้อยตรีชัยโรจน์ ประภาสวัด ดำรงตำแหน่งนายอำเภอห้างฉัตร โดยมี ฯพณฯ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ และได้จารึกไว้ที่อนุสาวรีย์โดยนายอุดม สืบหล้า อดีตศึกษาธิการอำเภอห้างฉัตร และทางเข้าอนุสาวรีย์นี้จะเข้าทางด้านหลัง เพราะหลวงพ่อเกษม เขมโก มีความเห็นว่าจะต้องหันหน้าไปทางเมืองลำปาง เพราะเจ้าพ่อขุนตานปกปักรักษาเมืองลำปาง (ที่มา : คุณชล ว่องสวัสดิ์)


สิ่งที่น่าสนใจศึกษาและเรียนรู้

- อนุสาวรีย์เจ้าพ่อขุนตาน และซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างซึ่งเคยเป็นเมืองโบราณมาก่อน

- ถวายความเคารพอนุสาวรีย์เจ้าพ่อขุนตานซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในอำเภอห้างฉัตร

และอำเภอใกล้เคียง

- ประเพณีบวงสรวงอนุสาวรีย์เจ้าพ่อขุนตาน ตรงกับเดือน 6 ออก 5 ค่ำ

- ศาลเจ้าพ่อขุนตาน ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านห้างฉัตรเหนือ หมู่ 2 ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

สถานที่เมืองโบราณ เช่น ยางคะตึก – เป็นสถานที่สำหรับบูชาเทพยดาทุกปีด้วยกวางคำ (โดยใช้สุนัข

ขนคำแทน) ตั้งอยู่ที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงโบราณ, ทุ่งตะคอก เป็นสถานที่คุมขังนักโทษ/เชลย,หนองอาบช้าง เป็นสระ/หนองใช้อาบน้ำของช้างเจ้าเมือง และบ่อน้ำโบราณที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก อยู่กลางเวียงเป็นรูปวงกลมก่อสร้างด้วยอิฐดินเผา (ที่มา : นายสุชาติ ปวงแก้ว ศน.สพท.ลำปาง เขต 1)

สถานที่ตั้ง บ้านหัววัง หมู่ 5 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง