คลังความรู้บทความ : อาชีพท้องถิ่น: เครื่องปั้นดินเผาโบราณ บ้านตูมใต้

คลังความรู้ กศน.เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

( Thailand Knowledge Portal (TKP) )

อาชีพท้องถิ่น : เครื่องปั้นดินเผาโบราณ บ้านไผ่ หมู่ที่ 1 ตำบลตูมใต้ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

บ้านไผ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตําบลตูมใต้ อําเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บ้านไผ่ แต่ก่อนเคยเป็นป่าโปร่ง มาก่อน มีต้นกอไผ่เกิดขึ้นเรียงราย เป็นจํานวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงตั้งชื่อว่า บ้านไผ่ มาจนถึงทุกวันนี้ ประชาชนอพยพมาจากตําบลโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภาษาพูดจึงมีลักษณะคล้ายสําเนียงคนโคราช ตอนแรกอพยพ มาประมาณ 2 – 3 หลังคาเรือน บุคคลที่ อพยพ มาคนแรก คือ นายผึ่ง พึ่งสว่าง และนางแจ้ง พึ่งสว่าง

เพราะเหตุที่บริเวณใกล้เคียงของหมู่บ้าน เป็นดินเหนียวและประชาชนที่อพยพมาจากนครราชสีมา เคยปั้นหม้อมาก่อนจึงยึดอาชีพเรื่อยมา และประชาชนจากโคราช อพยพลงมาเรื่อยๆ จนเกิดชุมชนใหญ่ขึ้น และได้จัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 และมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายทับ หินกลาง

การทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณของชาวบ้านไผ่ หมู่ 1 ตำบลตูมใต้ จุดเด่นของหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณบ้านไผ่ คือ หน้าร้านขายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอยู่ติดถนนทางหลวง จึงทำให้ผู้ที่สัญจรไปมาสามารถมองเห็นและแวะเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและกลุ่มยังให้ความสำคัญในการต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมชมสินค้าภายในร้านเป็นอย่างดี คอยแนะนำผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดว่าเหมาะสำหรับงานใดบ้าง รวมทั้งยังมีการจัดให้มีการออกร้านตามงานต่างๆ ทั้งในตัวอำเภอกุมภวาปีและในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง

วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญคือดินเหนียว โดยนำมาจากบึง

บ้านไผ่ซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้าน แต่เดิมต้องนำรถเข็นไปบรรทุกมาแต่ในปัจจุบันมีรถนำดินมาส่งถึงบ้านส่วนฟืนนั้นนิยมใช้ไม้ไผ่เป็นเชื้อเพลิงเพราะหาได้ง่าย สะดวก


ขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผา

1.การเตรียมดิน เมื่อขุดดินมาแล้วจะต้องทำการหมักดินก่อนประมาณ 6-7 วัน การหมักดินทำโดยการพรมน้ำตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ดินแห้งเมื่อพรมน้ำแล้วใช้ผ้ายางคลุมเพื่อไม่ให้ความชื่นระเหย

2 . การนวดดิน พอหมักดินแล้วจะนำดินมานวดโดยนำดินเหนียว 3 ส่วน ต่อทราย 1 ส่วนเข้าเครื่องนวดดินจะนวด 2 ครั้งเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันได้ดี

3. การขึ้นรูป ก่อนจะขึ้นรูปนำทรายมาโรยลงบนแป้นให้เป็น

วงกลมเพื่อไม่ให้ดินติดกับแป้นไม้ จากนั้นนำดินมาวางบนแป้นไม้

แล้วยกแป้นไม้นั้นมาวางบนแป้นหมุน การขึ้นรูปจะทำโดยการหมุนแป้นไม้ให้เกิดแรงเหวี่ยง แล้วใช้มือรีดดินเพื่อขึ้นรูปเป็นภาชนะตามที่ต้องการ

ต่อจากนี้จะตกแต่งลวดลายตามขอบภาชนะตามใจชอบเมื่อขึ้นรูปเรียบร้อยแล้วจะทิ้งไว้ในร่มประมาณ 3 วันเพื่อให้ดินแห้งพอหมาดๆ เสียก่อนต่อจากนั้นจึงนำภาชนะเข้าสู่เตาเผา

4 . การเผา ภาชนะที่ปั้นเสร็จและแห้งแล้ว จะนำมาใส่เตาเพื่อเผาให้ดินสุก เตาเจะก่อตัวเป็นรูปทรงกลม ข้างบนมีลักษณะโค้งเหมือนโดม มีช่องสำหรับใส่ไฟ การเรียงภาชนะในเตาเผาต้องเรียงสลับแบบฟันปลา เพื่อให้ภาชนะโดนไฟอย่างทั่วถึงและเป็นการประหยัดเนื้อที่ การเผาวันแรกต้องเริ่มจากการใส่เชื้อเพลิงทีละน้อยๆ เพื่อให้ภาชนะค่อยๆ ปรับตัว ถ้าใส่ไฟแรงเกินไปภาชนะปรับตัวไม่ทันอาจแตกได้ ใช้เวลาเผา 3 วัน จึงนำภาชนะออกจากเตาเผา

ในปัจจุบันกลุ่มอาชีพท้องถิ่น “การทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ” ของชาวบ้านไผ่ หมู่ที่ 1 ตำบลตูมใต้ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยการสนับสนุนจัดโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกุมภวาปี สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี โดยมีครู กศน.ตำบลตูมใต้ เข้าไปพบปะกับผู้นำชุมชนหรือประธานกลุ่ม สำรวจความต้องการของผู้เรียนการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ และประสานทีมงานวิทยากรเพื่อให้ความรู้กับชุมชนหรือผู้ที่สนใจเรียนหลักสูตรการปั้น ไม่ว่าจะเป็นการปั้นหม้อดินเผา การปั้นภาชนะใส่แจกันดอกไม้ และอื่นๆ

โดย กศน.ตำบลตูมใต้ เป็นผู้ประสานงานในการจัดกิจกรรมโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.) เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

2.) เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

3.) เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

4.) เป็นศูนย์กลางในการฝึกอาชีพ พัฒนา สาธิต และสร้างอาชีพของผู้เรียนและชุมชน โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นที่จัดเก็บแสดง จำหน่าย และกระจายสินค้าและบริการของชุมชนอย่างเป็นระบบและครบวงต่อไป

โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน หลักสูตรการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ เป็นหลักสูตรระยะสั้นแบบชั้นเรียน จำนวน 30 ชั่วโมงขึ้นไป ปัจจุบันมี นางแช้ม พึ่งสว่าง เป็นวิทยากรผู้สอน ให้ความรู้ บรรยาย และ ฝึกภาคปฏิบัติให้กับประชาชนที่สนใจเรียนรู้ หากประชาชนท่านใดสนใจเรียนหลักสูตรสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กศน.ตำบลตูมใต้ โดยผ่าน ครู กศน.ตำบลตูมใต้ 3 ท่านดังนี้คือ นางสาวดาวเรือง วันณี หัวหน้ากศน.ตำบลตูมใต้ เบอร์โทรศัพท์ 087-2206994 นายสุวิทย์ ลาลด ครู กศน.ตำบลตูมใต้ เบอร์โทรศัพท์ 093-9352461 และนายวรุฒ สุขตะกั่ว ครูศูนย์การเรียนชุมชน เบอร์โทรศัพท์ 085-2228799 หรือประสานงานโดยตรงได้ที่ นายคำสิงห์ บุตรโตคร ผู้ใหญ่บ้านตูมใต้ หมู่ 1 เบอร์โทรศัพท์ 090-6129887

ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านไผ่ หมู่ที่ 1 ตำบลตูมใต้ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี 41110

การเดินทาง : ใช้เส้นทางถนน กุมภวาปี-วังสามหมอ ขับผ่านเมืองเก่า (พันดอน) มาประมาณ 1 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาฝั่งตรงข้ามปั้มน้ำมันพีที เข้ามาในตัวหมู่บ้านไผ่ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะพบป้ายหมู่บ้านไผ่ ตำบลตูมใต้ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นายสุวิทย์ ลาลด ภาพถ่าย/ภาพประกอบโดย นางสาวดาวเรือง วันณี /นายสุวิทย์ ลาลด