วัดเทพนิมิต

ประวัติของวัดเทพนิมิต ไม่พบหลักฐานการบันทึกเป็นรายลักอักษรแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด พ.ศ.ใด เพียงแต่ได้ฟังจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังบ้าง พบในหนังสือบ้าง คือหนังสือตรวจเยี่ยม ของพระสุคุณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการศึกษามณฑลจังหวัดจันทบุรี สมัยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่น วชิรญาณวโรรส เป็นประธานในการพระศาสนา ในเมืองกรุงเทพและมณฑลหัวเมืองตลอดราชอาณาจักร ได้ไปตรวจมณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) “ความว่า” เมืองตราด พระครูวิมลธาจารย์ เป็นเจ้าคณะเมือง มีวัด ๕๑ วัด พระสงฆ์ ๔o๘ รูป สามเณร ๕๐ รูป ศิษย์ ๔๕๐ คน คณะแขวงจัดเป็น ๒ แขวงคือ

๑. แขวงอำเภอตะวันออก มี ๑๕ วัด พระถา เจ้าอธิการวัดเทพนิมิต ตำบลท่าฉาง เป็นเจ้าคณะ

๒. แขวงอำเภอตะวันตก มี ๓๖ วัด พระเกต เจ้าอาวาสวัดสุวรรณเขตร ตำบลแหลมงอบ เป็นเจ้าคณะ

นี่ก็เป็นหลักฐานแสดงว่าวัดเทพนิมิต เป็นวัดเจ้าคณะอำเภอสมัยหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า วัดนี้อยู่ติดกับที่ว่าการอำเภอเพราะว่าอำเภอเขาสมิงสมัยก่อนอยู่ติดกับวัดเทพนิมิต ประการหนึ่งนั้นมีแต่น้ำตรงใกล้วัดมีแก่งๆหนึ่งชื่อ "แก่งศาล" ศาลก็คือที่ว่าการอำเภอนั้นเองไปทางใต้ก็มีแก่งพระยากราด

เกี่ยวกับชื่อวัดเดิมชื่อว่า "วัดเทพนิมิต" บางคนเรียกวัดท่าฉาง เหตุที่เรียกอย่างนั้นก็เพราะว่าสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยารชิริญาณวโรรส ออกเยี่ยมหัวเมือง ประสงค์จะให้วัดมีชื่อตามหมู่บ้าน วัดเทพนิมิต จึงเปลี่ยนเป็นวัดท่าฉาง มาสมัยปัจจุบันได้ยกฐานะ จากวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้ชื่อว่า "วัดเทพนิมิต"

เหตุ-ผลของการร้างและการยกวัดร้างให้เป็นวัดมีพระสงฆ์ฯ นับย้อนหลังจาก พ.ศ. ๒๕๐๙ ไปประมาณ ๒๙ ปี มีคุณตากับคุณยาย คุณตาชื่อ "ก๋งสัน" เป็นคนทำสวนอยู่ใกล้ๆวัดเป็นผู้มีจิตศรัทธา บรรดาพระสงฆ์ได้อาศัยบุคคลทั้งสองเป็นอยู่ เพราะสมัยนั้นข้าวยากหมากแพงโจรผู้ร้ายชุกชุม บรรดาชาวบ้านทั้งหลายได้อพยพไปทางเหนือ(บ้านเกษตรมณฑล) ตำบลเดียวกัน

อยู่มาตากับยาย ถูกโจรปล้นทรัพย์และถูกฆ่า วัดหมดที่พึ่งจึงอพยพตาม ดังปรากฏเป็นสำนักที่อาศัยของพระในปัจจุบัน มีชื่อว่า "วัดตาก๊ง" (เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกปัจจุบัน ชื่อ วัดมณฑล) วัดเทพนิมิต ไม่มีพระอาศัยอยู่แต่สมัยนั้น (แต่การทำสังฆกรรมบางอย่าง เช่น อุปสมบท กฐินพิธี ยังมากระทำกันที่นี่) บริเวณวัดร้างมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นตามลำดับเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙


มีประชาชนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดเข้ามาทำมาหากิน โดยทำไร่ทำสวนมากขึ้น จึงคิดบูรณะวัดกันขึ้น มีคณะหนึ่งที่นำชาวนครปฐมมาทอดผ้าป่า มีนายประวิทย์ ศิริสาคร สมัยนั้นเป็นสรรพากรนครปฐม เป็นหัวหน้า ได้เงิน ๑๐,๒๙๑ บาท ร่วมกับบุคคลใกล้เคียงสร้างกุฏิขึ้น ๑ หลัง ไม้ล้วน มุงสังกะสี ตอนนั้นยังไม่มีพระสงฆ์อยู่เลย เมื่อใกล้เข้าพรรษาจึงไปอาราธนาพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ในจังหวัดตราดนี่มาอยู่เอง โดยการอนุเคราะห์ของพระพิศาลปริยัติกิจ(พระราชเขมากร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดตราด จึงมีพระแต่สมัยนั้น และได้รับยกฐานะเมื่อ ๑๔ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙

สภาพของวัดโดยทั่วไปในอดีตและปัจจุบัน วัดเก่าตามหลักฐานการตั้งวัด กุฏิ ศาลา เข้าใจว่าหันหน้าไปทางคลอง เพราะวัดนี้ทางทิศตะวันออกติดลำคลองเขาสมิง ซึ่งมีน้ำตลอดปี ผู้ที่จะเดินทางไปยังอำเภอบ่อไร่ บ้านช้างทูน บ้านหนองบอน ซึ่งเป็นแหล่งขุดพลอย ของนักแสวงโชค ย่อมใช้เส้นทางนี้ ส่วนทิศต่างๆของวัดติดที่ดินของชาวบ้าน ผู้ปลูกพริกไทยกันส่วนมาก

สันนิษฐานจากลางคูที่ค้นพบ ถนนนั้นแต่เดิมคงไม่มี จะมีบ้างเป็นทางเกวียน ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ตัดถนนผ่านวัดทางด้านตะวันตก(ผ่านกลางที่ดินวัด) เพราะเหตุนี้ที่ดินจึงเป็นสองแปลง จากการตัดถนน ถนนนี้ชาวบ้านเรียกว่า "ถนนจินตกานนท์" การก่อสร้างสิ่งต่างๆของวัดจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก (หันหน้าไปทางถนน)การสัญจรไปมาก็ใช้ถนนเป็นส่วนมาก

ปัจจุบัน ส่วนทางคลองนั้นจะใช้บ้าง ก็เพียงเป็นการข้ามฟากเท่านั้น เกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนพอสมควร จากปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ปัจจุบันนี้ มีกุฏิ ๑๑ หลัง อุโบสถ ๑ หลัง มีประปา ไฟฟ้า เมรุเผาศพ

ปัจจุบันเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอ โดยได้รับการแต่งตั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ แทนเจ้าคณะอำเภอองค์เก่า(พระครูคีรีเขตคณารักษ์) ซึ่งมรณภาพไปแล้ว

ปัจจุบันได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ และปิดทองฝังลูกนิมิตไปแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ และได้สร้างศาลาคู่เมรุ ๑ หลัง และศาลาโรงทาน ๑ หลัง กุฏิหลังใหม่เจ้าอาวาส เทคอนกรีตภายในวัด

และมีพระครูอินทคีรีคณารักษ์(แก้ว ญาณวโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิต และมีวิทยฐานะ นักธรรมชั้นเอก วัดเทพนิมิต ตำบลเทพนิมิต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง

๑. เจ้าอาวาสวัดเทพนิมิต

๒. ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเขาสมิง

ผู้ให้ข้อมูล พระครูอินทคีรีคณารักษ์ (แก้ว ญาณวโร)

ผู้เรียบเรียง นางสาวจุฑารัตน์ ปล้องเงิน ครูกศน.ตำบลเทพนิมิต