มัสยิดเนี้ยะม่าตุ้ลเลาะห์

จังหวัดตราดเป็นจังหวัดสุดชายแดนภาคตะวันออก ติด กับประเทศกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2514 มีประชาชนชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งได้ย้ายถิ่นฐานมาจากหมู่บ้านเนินตาแมว อำเภอเมือง จังหวัดตราด เพื่อมาหาที่ดินทำมาหากินจนมาเจอที่ดินแห่งนี้ที่อำเภอเขาสมิง และได้มาตั้งหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้นที่บ้านเกษมสุข หมู่ 2 ตําบลเทพนิมิต อําเภอเขาสมิง จังหวัดตราด นําโดยฮัจยีกอเซ็ม สุขสาลี อัลมัรฮูมฮัจยะซัน อัลมรฮูมฮัจยะ ไซหนับ สุขประเสริฐ และ ครอบครัว ตามด้วยมุสลิมท่านอื่น ๆ อีกประมาณ 15 ครอบครัว โดยยึดอาชีพเกษตรกรรม ทําสวนผลไม้และไร่มันสัมปะหลัง ประกอบกับพื้นที่อุดมสมบูรณ์จึงทำให้มีมุสลิมที่อื่นเข้ามาตั้งหลักแหล่งทํามาหากินเพิ่มมากขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงทำให้ต้องมีสถานที่ประ กอบศาสนกิจในวันศุกร์และในวันสําคัญทางศาสนา

ในขณะนั้นได้ใช้บ้านของอัลมัรฮมฮัจยีซัน สุขประเสริฐและ อัลมัรฮม ฮัจยะไซหนับสุขประเสริฐ ซึ่งเป็นบ้านไม้สัก เป็นสถานที่ ประกอบศาสนกิจ ต่อมาเมื่อท่านทั้งสองอายุมากขึ้นและต้องการ ไปอยู่กับบุตร จึงได้มอบบ้านพร้อมที่ดินให้เป็นมัสยิด โดย ตั้งชื่อว่าง “มัสยิดเนี้ยะมาตุลเลาะห์” จดทะเบียนเป็นมัสยิดเลขที่ 7 พ.ศ. 2517 มีอีหม่ามคนแรกคือ ฮัจยีอิบรอฮีม อาดัม ฮัจยีณรงค์ สุขสาลี เป็นคอเต็บ(บุคคลที่บรรยาย) ฮัจยีสมชาย ปานทอง เป็น บิหล่าน(บุคคลที่เรียกประกาศเมื่อถึงเวลาละหมาด)

มัสยิดหลังนี้ใช้ประกอบศาสนกิจมาจนถึง พ.ศ. 2526 รวมเป็นเวลา 12 ปี ในเวลานั้นได้มีมุสลิมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทําให้มัสยิดหลังนี้คับแคบ ไม่เพียงพอกับจํานวนสัปปุรุษที่มา ประกอบศาสนกิจ ในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการประชุมกรรมการมัสยิดและ สัปปุรุษในหมู่บ้าน ตกลงให้สร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นโดยกําหนดงบประมาณในการก่อสร้างไว้ 6,000,000 บาท ในที่ดินจํานวน 9 ไร่ ที่ดินที่ใช้จัดสร้างนี้เป็นที่ดินส่วนกลางจํานวน 4 ไร่ 2 งาน และมีผู้ซื้อสมทบอีก 4 ไร่ 2 งาน

ในปี พ.ศ. 2527 อัลมรฮม มูสฮำหมัด รื่นสุข กับ คณะกรรมการและสัปปุรุษในหมู่บ้านได้เริ่มก่อสร้าง มัสยิดหลัง ใหม่ขึ้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 26 เมตร โดยฮัจยีกอเซ็ม สุขสาลี เป็นประธาน ดําเนินการควบคุมการก่อสร้าง และร่วมกับท่านอีหม่าม คณะ กรรมการ สัปปุรุษในหมู่บ้าน จัดหาทุนในการก่อสร้างตลอดมา

ในปี พ.ศ. 2533 คุณอุษา แสงสุวรรณ์ ได้เข้ามาอุปถัมภ์ในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ นับว่ามัสยิดเนี้ยะมาตุลเลาะห์ ได้รับเนี้ยะมัดจาก เอกองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ.) ให้เป็นมัสยิดหลังใหม่ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจตลอดไป

ซึ่งในปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้เป็นที่ประกอบศาสนกิจทางศาสนา เช่น การละหมาด ซึ่งเป็นการปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนึ่งในศาสนาอิสลาม เพื่อเป็นการภักดีต่ออัลลอฮฺ สัปปุรุษทุกคนจะมาละหมาดทุกวันศุกร์ พิธีนิกะห์หรือพิธีแต่งงานแบบอิสลาม การทำพิธีนิกะห์ ไม่จำเป็นต้องมีฤกษ์ คือถือฤกษ์สะดวก ซึ่งแตกต่างกับพิธีไทยที่มักจะต้องมีฤกษ์ยามเพื่อเป็นสิริมงคล แต่พิธีนิกะให้ความสำคัญกับพยานและตัวพิธีกรรม พิธีแต่งงานอิสลามจะเริ่มตั้งแต่ 1 วันก่อนวันพิธีหรือเรียกว่าวันสุกดิบ การจัดพิธีนิกกะห์มักนิยมจัดบ้านฝ่ายหญิง หรือถ้าไม่สะดวก ก็จะใช้มัสยิดแห่งนี้ในการจัดงาน พิธีศพ เมื่อมีคนมุสลิมสิ้นชีวิต ญาติพี่น้องจะต้องรีบทำความสะอาดผู้ตายด้วยการอาบน้ำแล้วรีดอุจจาระรวมทั้งสิ่งสกปรกอื่น ๆ ออกให้หมดจากอาบน้ำแล้วให้ใช้น้ำใบพุทธราดแล้วจึงอาบน้ำพิมเสนหรือการะบูนครั้งสุดท้าย ผู้อาบน้ำให้ผู้ตายควรเป็นเพศเดียวกัน และผู้อาบน้ำจะต้องไปอาบน้ำสุหนัดหลังจากที่อาบน้ำให้ผู้ตายแล้ว ซึ่งบ้างครอบครัวก็จะใช้มัสยิดแห่งนี้ในการทำพิธีเป็นต้น

ละด้วยมัสยิดเนี้ยะม่าตุ้ลเลาะห์แห่งนี้มีลักษณะเป็นหินอ่อนทั้งหมด มีความโดดเด่นสง่างามไม่เหมือนที่ไหนๆ จึงจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือจุดเช็คอินของนักแสวงบุญของศาสนาอิสลาม อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดตราด

ผู้ให้ข้อมูล นางสาวพัชรี มานยาซิ

ผู้เรียบเรียง นางสาวจุฑารัตน์ ปล้องเงิน ครูกศน.ตำบลเทพนิมิต


แผนที่มัสยิดเนี๊ยะมาตุ้ลเลาะห์