ประเพณีวัฒนธรรม 12 เดือนชาวรามัญ

ด้านประเพณีและวัฒนธรรมด้านประเพณีและวัฒนธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหาเถรคันฉ่องและพระภิกษุสามเณรรามัญอื่นอพยพเข้ามาพร้อมด้วยสมเด็จพระนเรศวรนั้น คณะสงฆ์รามัญนิกายได้เผยแพร่ลัทธิวิธีพระพุทธศาสนาแบบรามัญแก่กรุงศรีอยุธยาโดยทั่วไป ตลอดจนถึงตัวเมืองใกล้เคียง ในบริเวณใดที่เป็นหมู่บ้านรามัญ ได้ร่วมกันสร้างวัดรามัญขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาและบวชกุลบุตรในหมู่บ้านนั้นด้วย ทำให้พระพุทธศาสนาแบบรามัญนิกายเผยแพร่มาจนถึงปัจจุบันกอรปกับชาวรามัญอพยพเข้ามาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทยทรงพระกรุณาโปรดฯให้ตั้งถิ่นทำนักอยู่ที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีและอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จึงทำให้วัดรามัญเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ปรากฎในปัจจุบัน อาทิ วัดจันทร์กระพ้อ วัดศาลาแดง วัดสองพี่น้อง อำเภอสามโคกจังหวัดปทุมธานี วัดเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และวัดไพชยนต์พลเสพ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทสาคร ล้วนเป็นวัดรามัญที่พระสงฆ์รามัญ และชาวรามัญร่วมกันสร้างเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้พรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้ศรัทธา และใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นการเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีของรามัญนิกายด้วย มีประเพณีวัฒนธรรมทั้ง 12 เดือนดังนี้

(1) เดือนเมษายนมีการแห่เปิงชังกราน (ข้าวแช่) ไปทำบุญตามวัด ปล่อยนก ปล่อยปลาสรงน้ำพระคารวะผู้ใหญ่ และแห่นางสงกรานต์ เป็นต้น

(2) เดือนพฤษภาคมชาวรามัญนิยมไปทำบุญและรดน้ำต้นโพธิ์ ปลูกต้นโพธิ์ตามวัด เพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ถวายน้ำสรงที่โคนต้นโพธิ์แทนถวายน้ำสรงพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีการแต่งกายของสาวรามัญ

(3) เดือนมิถุนายนชาวรามัญนิยมบวชลูกหลานเพื่อเป็นการสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนา ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเพื่อทำใจให้ผ่องใส

(4) เดือนกรกฎาคมชาวรามัญหล่อเทียนเข้าพรรษาและแห่เทียนเข้าพรรษาเพื่อไปถวายตามวัดต่างๆที่ตนนับถือตลอดถวายผ้าอาบน้ำฝนด้วย

(5) เดือนสิงหาคมชาวรามัญนิยมทำบุญตั้งเป็นทุนมูลนิธิเพื่อเก็บดอกผลบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญถาวรต่อไป

(6) เดือนกันยายนชาวรามัญนิยมทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งตามวัดที่มีพระสงฆ์รามัญ และหมู่บ้าน ชาวรามัญทั่วไป นิยมตักบาตรน้ำผึ้งกันทุกปี

(7) เดือนตุลาคมชาวรามัญทำบุญออกพรรษาตักบาตรเทโวและตักบาตรดอกไม้

(8) เดือนพฤศจิกายนชาวรามัญทำบุญทอดกฐินและผ้าป้า

(9) เดือนธันวาคม ชาวรามัญทำบุญด้วยผลิตผลของเกษตรกรรมใหม่ เช่น ข้าวใหม่ (ตำข้าวเม่า) ผลไม้ซึ่งออกผลใหม่ๆ นำมาถวายพระ

(10) เดือนมกราคมชาวรามัญทำบุญด้วยกาลทาน 5 ประการ คือ

1) ทำบุญกับพระอาคันตุกะมาพักแรมตามวัดของตนเพื่อเป็นการปฏิสันฐานต้อนรับพระสงฆ์

2) ทำบุญกับพระภิกษุซึ่งเดินทางไกลหรือออกธุดงค์ เพื่อปฏิบัติธรรม

3) ทำบุญกับพระภิกษุกับพระสงฆ์อาพาธ ซึ่งถือว่าได้บุญล้ำเลิศประเสริฐนัก

4) ทำบุญให้ทานแก่บุคคลซึ่งประสบทุพภิกขภัย คือข้าวยากหมากแพงและสงเคราะห์ ประชาชนประสบเคราะห์กรรมหนัก เช่น อัคคีภัย วาตภัย เป็นต้น

5) ทำบุญให้ทานด้วยผลผลิตเกษตรกรรมใหม่ เช่น ข้าวใหม่ ผลไม้ใหม่

(11) เดือนกุมภาพันธ์ ชาวรามัญทำบุญด้วยฟืนเพื่อให้พระภิกษุผิงไฟและถวายผ้าห่มกันหนาว ตลอดจนถวายข้าวยาคู เป็นต้น

(12) เดือนมีนาคม ชาวรามัญพร้อมใจนมัสการสักการะพระเดีย์เลียะเกิง ตลอดจนจัดงานสมโภชพระเจดีย์เลียะเกิงที่เมืองย่างกุ้ง “ประเพณีบุญ 12 เดือนของชาวรามัญล้วนเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น”เพราะชาวรามัญมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงได้แสดงออกทางวัฒนธรรมประเพณีของตน


สื่อประกอบ : หนังสืออัตลักษณ์ของชาวรามัญตามแนวพระพุทธศาสนาในจังหวัดสมุทรสาคร โดยพระครูสาครพัฒนกิจ ดร. (เจ้าอาวาสวัดน่วมกานนท์)

ผู้บันทึกข้อมูล : นางสาวสรภัค อ่วมเกตุ