ประเพณีแข่งเรือยาว

ประวัติความเป็นมา

การแข่งขันเรือยาวประเพณี มรดกวัฒนธรรมทางสายน้ำที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เรือและผู้คน บนพื้นฐานความสามัคคีพร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน ประเพณีการแข่งขันเรือยาวที่มักจัดคู่ไปกับการเข้าวัดทำบุญตักบาตร เนื่องในเทศกาลออกพรรษา ทอดกฐินผ้าป่าสามัคคี

ประเพณีแข่งขันเรือยาวประเพณีนี้ เป็นเกมกีฬาเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยากรุงเก่า เป็นที่นิยมเล่นกันทั้งภายในพระราชวังไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาด ดังที่มีปรากฏในกฏมณเทียรบาลเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้กล่าวถึงพระราชพิธีเดือน ๑๑ จะมีการแข่งเรือยาวขึ้น เพื่อเป็นการฝึกปรือกำลังพลทหารประจำกองเรือ

ส่วนการแข่งขันเรือยาวประเพณีของชาวบ้านทั่วไป จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่นในช่วงเทศกาลทอดกฐินด ทอดผ้าป่า ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ๑๑ – ๑๒ ซึ่งจะตรงกับฤดูน้ำหลากพอดี ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะอยู่แล้ว เมื่อถึงหน้ากฐิน ผ้าป่าสามัคคีก็มักจะนิยมนำเรือมาร่วมขบวนแห่ผ้ากฐิน องค์ผ้าป่าไปยังวัดอยู่แล้ว หลังพิธีการทางศาสนาจบลง จะมีการแข่งเรือกันขึ้นเพื่อความสนุกสนาน

ปัจจุบันการแข่งขันเรือยาวพัฒนาจากการละเล่น กีฬาเชื่อมความสามัคคีของคนในชุมชนกลายเป็นเกมกีฬาระดับประเทศชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯวันนี้ กลายเป็นกีฬาทางน้ำที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในหลายๆ สนามแข่งขัน ตามลุ่มน้ำสำคัญในประเทศ เช่น ประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิต การแข่งขันเรือยาวจังหวัดน่าน การแข่งขันเรือยาวจังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นลุ่มน้ำสำคัญในประเทศไทย

การแบ่งประเภทการแข่งขันเรือยาว จะแบ่งตามขนาดของเรือ เรือยาวใหญ่ ๔๑ – ไม่เกิน ๕๕ ฝีพาย เรือยาวกลาง ฝีพาย ๓๑ – ไม่เกิน ๔๐ ฝีพาย และเรือยาวเล็กที่มีฝีพายไม่เกิน ๓๐ ฝีพาย โดยเรือจะขุดขึ้นจากต้นตะเคียนทั้งต้นโดยช่างขุดเรือที่มีฝีมือในการขุดเรือ ส่วนระยะทางที่ใช้แข่งขัน จะมีระยะทางประมาณ ๖๐๐ – ๖๕๐ เมตร โดยจะมีทุ่นบอกระยะทุกๆ ๑๐๐ เมตร


กติกาการแข่งขันเรือยาวประเพณี ใช้ระบบแพ้คัดออก โดยจับคู่แข่งขันกัน หากเรือฝ่ายใดแข่งชนะ ๒ ครั้ง ถือว่าเป็นฝ่ายชนะ แต่ถ้าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ฝ่ายละเที่ยวก็จะต้องมาตัดสินในการแข่งเที่ยวที่ ๓

ประวัติความเป็นมาของประเพณีแข่งขันเรือยาวชาว

บ้านเตย ตำบลทุ่งกุลา

การกำเนิดเรือยาว ในชุมชนตำบลทุ่งกุลานั้น มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน การสัญจรไปมาทางน้ำ เป็นเหมือนการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนทั้งสองฝั่ง สุรินทร์กำนันร์ ร้อยเอ็ด จึงได้จัดการแข่งขันเรือขนาดเล็กที่ใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เป็นประเพณีในฤดูน้ำหลาก และต่อมาเริ่มมีการแข่งขันเรือยาวกันมากขึ้น

การแข่งขันเรือยาวชาวบ้านเตย มีมาแต่สมัยใดนั้น ยังไม่แน่ชัด แต่ผู้นำให้เกิดประเพณีแห่งสายน้ำซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำมูล โดยท่านพระครูสีลาภิราม (หลวงปู่ชาลี) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดทักษิณชลธารบ้านเตย ในสมัยนั้น ได้ปรึกษาชาวบ้านในการที่จะสร้างเรือเพื่อเข้าแข่งขันในแถบลุ่มน้ำมูล ในชุมชนบ้านเตย โดยได้เชิญเรือจากหมู่บ้านต่างๆในละแวกใกล้เคียงเข้าร่วมทำการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันเรือยาวครั้งแรกของชาวตำบลทุ่งกุลา ได้จัดขึ้นใหลากช่วงที่ข้าวกำลังออกรวง ประมาณเดือน พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก ที่ลำน้ำมูล เรียกว่า ท่าอุปราช(ท่าวังใหญ่)

ปัจจุบัน การแข่งขันเรือยาวประเพณีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ยังคงรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ดู มีการบริหารจัดการโดยเทศบาลตำบลทุ่งกุลา จัดเป็นประจำทุกปีในเดือน ตุลาคม ที่บริเวณลำน้ำเตย วัดทักษิณชลธารบ้านเตย ตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด


ก่อนทำการแข่งขัน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการบวงสรวงเจ้าท่า ชาวบ้านเตยจะจัดผู้รำ ที่เป็นหญิงสาวบริสุทธิ์ของหมู่บ้าน เพื่อรำถวายแม่ย่านาง เรียกว่า "นางเทียม" จำนวน 2 คน รำไปบนเรือที่จะแข่งขัน ซึ่งการแข่งเรือในสมัยนั้น เป็นลักษณะเรือชาวบ้านหรือเรือขอน ทั้งหมด และใช้ฝีพายจากชาวบ้านทั้งหมด อาหารของลูกเรือ ถ้าบ้านได๋เป็นเจ้าภาพ จัดแข่งขัน หมู่บ้านนั้นจะเป็นผู้เลี้ยงอาหาร โดยแบ่งกันรับผิดชอบเป็นคุ้ม คุ้มหนึ่งจะมีประมาณ 10 หลังคาเรือน

กติกาในการแข่งขัน นั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้จัดการเรือ ร่วมกัน ส่วนใหญ่แล้วจะแข่งขันรอบละ 2 ลำ แบ่งร่องน้ำ แดงและน้ำเงิน และมีการสลับร่องน้ำ ระยะทางในการแข่งขัน ขึ้นอยู่กับความยาวของสายน้ำ ที่จะกำหนด ส่วนใหญ่ประมาณ 200- 300 ม.จำนวนฝีผาย 45-55 คน ไม่จำกัดผู้แข่งขัน คือสามารถเปลี่ยนฝีพายได้ตลอด

และจากจุดเริ่มต้นของการแข่งขันเรือยาว ชาวบ้านเตยได้ถือเป็นประเพณีสืบต่อกันเรื่อยมาและได้ถือกำเนิดตำนานเรือยาวที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยถือว่าเป็นเจ้าแห่งนาวา นั่นคือ เรือเทพทักษิณ ซึ่งเป็นเรือที่ถือกำเนิดที่วัดทัดษิณชลธารบ้านเตย ตำบลทุ่งกุลา แม้ปัจจุบันนี้ เรือเทพทักษิณ ไม่ได้ลงทำการแข่งขัน ในหลายๆสนามเนื่องจากภารกิจของลูกเรือ และการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่เทพทักษิณยังคงเป็นเรือยาวเแห่งความภาคภูมิใจของลูกหลานแห่งลุ่มน้ำมูลตลอดไป

รำบวงสรวงก่อนทำการแข่งขัน

สะพานสีลาภิราม สะพานข้ามแม่น้ำมูล ใช้เป็นจุดชุมการแข่งขันเรือยาวประเพณีของชาวทุ่งกุลา

นางสาวณปภัช เหลื่อมใส ครู กศน.ตำบลทุ่งกุลา

อำเภอสุวรรณภูมิ จังวัดร้อยเอ็ด 0615298576

e-mail : tan_121215@hotmail.com

id line : tannapaphat

ผู้บันทึกข้อมูล