แหล่งเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี

อำเภอทุ่งฝน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลบ้านเชียง และตำบลสะแบง อำเภอหนองหาน ปี พ.ศ. 2510 ได้แบ่งพื้นที่บางส่วนของตำบลสะแบงตั้งเป็นตำบลทุ่งใหญ่ ปี พ.ศ. 2514 ได้แบ่งพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านเชียงตั้งเป็นตำบลทุ่งฝน ก่อนที่จะรวมตำบลทุ่งใหญ่ และตำบลทุ่งฝนตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอในปี พ.ศ. 2519 และยกฐานะเป็นอำเภอปี พ.ศ. 2533 รวมระยะเวลาการเป็นกิ่งอำเภอ 13 ปี นับว่าเป็นอำเภอที่มีระยะเวลาการเป็นกิ่งอำเภอยาวนานที่สุดอันดับสองในจังหวัดอุดรธานี

คำขวัญอำเภอทุ่งฝน

ทุ่งฝนแดนอีสาน คู่บ้านวัดโพธิ์ศรีทุ่ง

นุ่งผ้าหมี่ขิด ศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อทองคำ

เลิศล้ำข้าวเจ้ามะลิหอม งามพร้อมธรรมชาติหนองแล้ง

ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอทุ่งฝนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านดุง

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสว่างแดนดิน (จังหวัดสกลนคร)

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหนองหาน

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอหนองหานและอำเภอพิบูลย์รักษ์

ประวัติวัดโพธิ์ศรีทุ่ง

เมื่อตั้งหมู่บ้านประมาณปี พ.ศ. 2373 คณะผู้นำหมู่บ้านได้กำหนดขอบเขตสถานที่ตั้งวัดชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันสร้างพระปางทรงสี่เหลี่ยมยอดตัดขึ้นหนึ่งองค์ ไม่มีหลักฐานยืนยันการสร้างเพื่อสิ่งใดและไม่มีทางเข้าออกจะมีเป็นช่องกระจกกลมๆหันหน้าไปทางทิศตะวันออกอยู่ส่วนบุญขององค์และสถูป (ชาวบ้านเรียกว่า อูป ) ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำและเป็นที่จำวัตรของ ญาคู หลักคำแต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อวัดไว้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา และประเพณีที่สืบทอดกันมา ในปีพ.ศ. 2400 ปรากฏหลักฐานการตั้งชื่อวัด เนื่องจากสถานที่ตั้งวัดมีต้นโพธิ์จำนวนสองต้นภายในวัด จึงได้ตั้งชื่อว่า “วัดโพธิ์ศรี” แต่เมื่อการตรวจสอบชื่อวัดเพื่อกำหนดขอบเขตวิสุงคามสีมา ปรากฏว่ามีชื่อพ้องกันวัดโพธิ์ศรีของบ้านเชียง และเดิมวัดโพธิ์ศรีบ้านเชียงจะเรียกกันว่าวัดใน เนื่องจากมีร่องวัด อีกวัดหนึ่งคือวัดนอก “วัดสระแก้ว” จึงให้วัดโพธิ์ศรีบ้านเชียงชื่อว่าวัดโพธิ์ศรีใน และวัดโพธิ์ศรีที่บ้านทุ่งฝนชื่อว่า วัดโพธิ์ศรีทุ่ง ตามชื่อของหมู่บ้าน


ประวัติหลวงพ่อทองคำ

หลวงพ่อทองคำ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย รูปทรงบาง หลังเอน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบของลาวหลวงพระบาง หล่อด้วยทองสีสุกผสมทองสัมฤทธิ์ มีรูปลักษณ์งดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว (คืบและศอกของช่างหล่อ) ปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปวัดโพธิ์ศรีทุ่ง อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี เป็นพระพุทธรูปที่ชาวอำเภอทุ่งฝนนับถือศักดิ์สิทธิ์มาก และเป็นที่เคารพสัการะอย่างยิ่ง

การค้นพบหลวงพ่อทองคำ

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทองคำ จากคำบอกเล่าของคุณพ่อเคน คำเชียงตา ได้เล่าว่าสมัยก่อนนั้นตรงกรุ (สถูป) ที่ขุดพบพระจำนวนมากเป็นป่าทึบมีแต่สัตว์ป่าต่างๆ เช่น เสือ ช้าง วัว ควายป่า หมู่ป่า และงูนาๆ ชนิดมาอาศัยอยู่อย่างมากมายและไม่มีใครกล้าเข้าไป ตกตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงงูจงอางร้องดังสนั่น วันหนึ่งนายพราน 2 คน เห็นหมูป่าวิ่งเข้าไปตรงนั้นก็เลยชวนกันไปดักซุ่มใต้ต้นมะม่วงใหญ่เพื่อที่จะยิงหมูป่า บังเอิญเจอหมูป่านายพรานได้ยิงหมูป่าตัวนั้นแต่ยิงเท่าไรลูกปืนก็ด้านหมด พอเดินออกมาได้ลองยิงปืนก็สามารถยิงได้ จึงได้ชวนกันกลับบ้าน วันต่อมาจึงได้ชวนชาวบ้านเข้าไปดูจึงได้เห็นว่ามีกรุ (สถูป) ที่บรรจุหลวงพ่อทองคำอยู่ และเกตุของพระผุดขึ้นมาบนดิน จึงได้ชวนกันมาถากถางป่าบริเวณนั้นทุกวันจนหมดและเวลาต่อมาได้ปรับปรุงให้เป็นวัด ชื่อวัดโพธิ์ศรี ในเวลากลางคืนทุกวันพระหลวงปู่เพิก นนท์บุไร ได้เล่าวว่าจะมีแสงสว่างเป็นดวงไปออกมาจากเกตุของหลวงพ่อทองคำแล้วออกจากวัดโพธิ์ศรี ลอยไปรอบๆ หมู่บ้านทุ่งฝนเพื่อไปดูแลปกปักรักษาชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ครั้งหนึ่งมีโจรขโมยเอาหลวงพ่อทองนาคขึ้นเกวียนไปตามถนนบ้านหนองเลียง (บ้านโนนสะอาด ปัจจุบัน) พอไปถึงกลางทางเกวียนหักขโมยจึงได้ยกหลวงพ่อนากลงไว้ข้างถนน ชาวบ้านได้นำกลับมาไว้ที่วัดเหมือนเดิม ชาวบ้านทุ่งฝนเคารพนับถือ ศรัทธาเลื่อมใสมาตลอดในรอบปีหนึ่งๆ จะมีการบนบาน 3 ครั้ง คือวันเพ็ญเดือน 3 วันเพ็ญเดือน 6 และวันเพ็ญเดือน 11 เมื่อบนบานแล้วเกิดความสุขกาย สบายใจ และสำเร็จได้ตามปรารถนา สิ่งที่จะนำมาแก้บนได้แก่ต้นกล้วยน้อย (ชาวบ้านเรียกบังสุกุลต้นกล้วยน้อย) ประเพณีนี้ชาวอำเภอทุ่งฝนจัดขึ้นทุกๆ ปี


พิธีหล่อหลวงพ่อทองคำ

พิธีหล่อมีคนสูบเตาหลอมอยู่ไม่ขาดระยะนับเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จนถึงวันที่ 8 พอถึงเวลาฉันเพลเหลือแต่หลวงตากับสามเณรน้อยทำการสูบเตาอยู่ ปรากฏว่ามี ชีปะขาวคนหนึ่งเดินทางเข้ามาขอสูบเตาช่วยหลวงตา และนิมนต์หลวงตากับสามเณรน้อยไปฉันเพล และแล้วสิ่งที่เป็นอัศจรรย์ที่ทุกคนในวัดเห็นก็คือ มีชีปะขาวกำลังสูบเตาอยู่นั้นมีจำนวนมากผิดปกติ เตาที่หล่อพระก็มีจำนวนมากขึ้น และทองได้ถูกเทลงในเบ้าหลอมทั้งหมดเมื่อหลวงตากับสามเณรน้อยกลับมา ก็ไม่เห็นชีปะขาวแล้วส่วนพระพุทธรูปที่ทำการหล่ออยู่นั้นก็เสร็จเรียบร้อย