การทำสวนสมรม
การทำสวนสมรม
สวนสมรม
เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีตของภาคใต้ ที่ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก พืชสมุนไพรในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยกันเองตามธรรมชาติ จากสวนผลไม้ดั้งเดิมที่พ่อปลูกไว้ให้ มีมังคุด ทุเรียน ลางสุก ลางสาด มะมุด หมาก กล้วย รวมทั้งไม้ดังเดิมในพื้นที่ และเนื่องจากพื้นที่ด้านหนึ่งเป็นลำธารสาธารณะ จึงยังมีไม้พื้นถิ่นอยู่บ้าง เช่น ต้นสาคู ผักกูด และไม้ริมน้ำ เริ่มต้นพัฒนาสู่สวนสมรม ด้วยการปลูกแซมด้วย ไม้ยืนต้น ตะเคียน ยางนา จำปาทอง ไผ่ สะเดา สะเดาเทียม ฯลฯ เสริมด้วยไม้ผล ได้แก่ กล้วย ชมพู่ ขนุน กระท้อน มะพร้าว ผักเหลียง หม่อนกินผล สับประรด ตะลิงปลิง มะยม ชะอม มะนาว ฝรั่ง มะเฟือง ดาหลา ข่า ตะไคร้ ฯลฯ เพิ่มเติมด้วยสมุนไพร ทั้งสมุนไพรในท้องถิ่นและสมุนไพรที่ปลูกเพิ่มเข้าไปและพืชที่เกิดตามธรรมชาติ ได้แก่ สาคู ผักกูด ฯลฯ พยายามจัดระบบระดับชั้นต้นไม้ ไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มใหญ่ หรือสูงใหญ่ก็จะปลูกห่างกัน และเสริมด้วยไม้ระดับกลาง พืชใบหนา สลับกับพืชใบเล็ก แบ่งปันการรับแสง และตัดแต่งทรงพุ่มไม้ผลให้รับแสงทั่วถึง สภาพดินในสวนเป็นดินร่วนปนทรายแต่ปนเปื้อนสารเคมี ในช่วงแรกจึงต้องฟื้นดิน โดยปล่อยให้หญ้าเติบโตตามธรรมชาติ แล้วตัดทำเป็นปุ๋ยพืชสดในสวน ฉีดน้ำหมักชีวภาพผสมจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์จาวปลวก จุลินทรีย์ท้องถิ่น ไตรโคเดอร์ม่า) ช่วยย่อยสลาย และปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืช อาศัยหลักของการพึ่งพาอาศัย และความสัมพันธ์ระหว่างพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ช่วยเพิ่มเติมความสมดุลภายในสวนด้วยการเลี้ยงดิน โดยการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ประกอบด้วย มูลสัตว์ (ขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ไก่แกลบ) อินทรีย์วัตถุ (แกลบ ขุยมะพร้าว เศษใบไม้) ถ่านชีวภาพ (หรือแกลบดำ) น้ำหมักชีวภาพ (จุลินทรีย์ และฮอร์โมน) อาหารจุลินทรีย์ (รำละเอียด กากน้ำตาล) ในแบบเกษตรอินทรีย์ ห่มดินด้วยใบไม้ของพืชที่ตกลงมาสำหรับการจัดการน้ำ ในพื้นที่มีลำธารน้ำสาธารณะ แต่ไหลมาจากสวนอื่นๆ ผ่านมาทางสวนเราทำให้มีสภาพปนเปื้อนสารเคมี จึงได้ทำน้ำหมักชีวภาพและลูกบอลจุลินทรีย์ใส่ลงไป แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น สงสัยต้องสู้กันอีกหลายยก ช่วงลำธารส่วนนี้ขุดให้กว้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำและตั้งใจจะทำฝายมีชีวิต ยกระดับน้ำขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำและเพิ่มความชุมชื้นให้พื้นที่โดยรอบ การฟื้นฟูสวนสมรมสู่วนเกษตร สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ด้วยการพึ่งพิงและพึ่งพาอาศัย ด้วยความเข้าใจ เคารพ และอ่อนน้อม ยอมรับในหลักของธรรมชาติ สู่ความมั่นคงและยั่งยืน บรรยากาศสวนสมรม ต้นไม้ดูรกและไม่ค่อยมีระเบียบ เพราะว่ามีช่องว่างที่ตรงไหนและพอมีแสงก็จัดลงต้นไม้ทันที ต้นไหนตายก็ปลูกใหม่
สวนสมรม หรือสมลม เป็นคำภาษาถิ่นภาคใต้ มากจากคำว่าสวนผสมรวม หมายถึง สวนขนาดเล็ก ที่ปลูกผสมปนเปกันของผลไม้นานาชนิด ไม่มีการแยกแปลงแยกชนิด อาศัยธรรมชาติให้เกื้อกูลกันเอง นับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะผลไม้แต่ละชนิดออกผลผลิตไม่พร้อมกัน ทำให้เจ้าของสวนสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ทั้งปี และช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดด้วย ในสวนสมรมจะมีผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ทุเรียน มังคุด ลางสาด จำปาดะ หมาก สะตอ ลูกเนียง ฯลฯ
ชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ที่เรียกกันว่าสวนสมรม ในสวนหนึ่ง ๆเราอาจจะพบมังคุดและลางสาดอยู่ใต้ต้นทุเรียน ต้นมะพร้าว หรือจำปาดะ ใกล้ ๆกันจะพบต้นหมากสลับต้นลูกเนียง มีต้นเหรียง ต้นสะตอ กอระกำอยู่ข้างขนำ บางสวนยังมีไม้ใหญ่ เช่น ตะเคียน จำปา ในระยะหลัง ๆบริเวณที่ราบจะมีการปลูกผลไม้แยกเฉพาะกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสวนมังคุด ลองกอง แต่ก็ยังมีผลไม้อื่นปนอยู่บ้างจากลักษณะดังกล่าวทำให้ชาวบ้านสามารถเก็บผลผลิตได้ทุกปี เพราะถ้าหากอย่างหนึ่งไม่ออกผล อีกอย่างหนึ่งจะให้ผลแทน เช่น ปีนี้มังคุดไม่เป็นลูก ก็ขายหมากแทน หรือมังคุดราคาถูก ก็ได้ขายจำปาดะในราคาดี ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ถ้าปลูกพืชชนิดเดียวกันทั้งหมดก็อาจไม่มีผลผลิตออกขายได้ เพราะการทำสวนโดยอาศัยธรรมชาติ เป็นการทำกันมาตามบรรพบุรุษ ซึ่งนักเกษตรรุ่นใหม่เรียกว่า เกษตรแบบผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ หรือเกษตรธาตุสี่ แต่ชาวบ้านยังเรียกว่า “สวนสมรม”