นายวิโรจน์ คงปัญญา

ประวัติภูมิปัญญา

นายวิโรจน์ คงปัญญาเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2490 จบระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปัจจุบัน กำลังการศึกษาต่อปริญญาโท สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ (สวนสมรม) นายวิโรจน์ คงปัญญา เล็งเห็นความเข้มแข็งของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา จึงเป็นผู้ริเริ่มผลักดันนโยบายของกลุ่มออมทรัพย์ ให้พัฒนาแนวทางจากการออมทรัพย์เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไปสู่การสร้างความสามารถในการผลิตและสวัสดิการชุมชนความสำเร็จในการขยายขีดความสามารถจากการช่วยเหลือไปสู่การริเริ่มการลงทุนในชุมชน จะเห็นได้จากการลงทุนในกิจการต่างๆ ทั้งโรงแป้งขนมจีน โรงปุ๋ยชีวภาพ โรงรมยางพาราและอบแห้ง แล้ว สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จาก475 คน และเงินออมหมุนเวียน 1,549,100 บาท ในวันรับตำแหน่งประธานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 มาเป็นสมาชิกจำนวน 14,000 คน และเงินออมหมุนเวียน จำนวน 161,158,297.17 บาท ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2559) ครอบคลุมการให้บริการ/สนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชน(ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศ) ในพื้นที่ 10 ตำบล 3 อำเภอ คือพรหมคีรี นบพิตำ และท่าศาลา

ความเป็นมา

ชุมชนบ้านดอนคา (บ้านดอนคา เป็นชุมชนหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ใน 10 หมู่บ้านของตำบลทอนหงส์) ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณ 38 กิโลเมตรเดิมอำเภอพรหมคีรี เป็นกิ่งอำเภอของอำเภอเมืองได้แยกออกจากอำเภอเมืองเป็นอำเภอพรหมคีรี เมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยรวมเอาพื้นที่บางส่วนจากอำเภอนบพิตำและบางส่วนของอำเภอท่าศาลา มารวมเข้าไว้ด้วย นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้และมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ แต่จากการสำรวจข้อมูล จปฐ.ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พบว่า เป็นจังหวัดที่ประชากรมีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกล่าวคือ มีรายได้เฉลี่ย 216,294 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือ 69,534 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่รายได้เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 245,632 ต่อครัวเรือนต่อปีหรือ 79,185 บาทต่อคนต่อปี

การสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน

บ้านดอนคาเป็นชุมชนชายเขา-เขาหลวง ด้านตะวันออก ที่ประกอบอาชีพสวนยางพาราและสวนผลไม้ มีรายได้พอที่จะเก็บออม แต่ไม่สะดวกที่จะใช้บริการรับฝากเงินธนาคาร ประกอบกับในปี พ.ศ.2526 มีตัวอย่างการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในหมู่บ้านใกล้เคียง คือบ้านอ้ายเขียว จึงเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มแม่บ้านบ้านดอนคาริเริ่มที่จะรวมกลุ่มเพื่อการดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน โดยเริ่มต้นจากสมาชิกเริ่มแรก จำนวน 37 คน เงินสะสมก้อนแรกจำนวน 2,857 บาท จัดตั้งเป็น “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2526 ด้วยการสนับสนุนจากนายณรงค์ ปรีชา ประธานอำนวยการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านอ้ายเขียว ทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราว เมื่อก่อตั้งได้แล้วจึงได้เลือกนายช้วน ศรีอินทร์ มาทำหน้าที่เป็นแกนนำ และต่อมาเมื่อนายช้วน มีปัญหาด้านสุขภาพและขอลาออก จึงเลือกนายวิโรจน์ คงปัญญา ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มมาจนปัจจุบัน การดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ได้จัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 ปัจจุบัน วิสาหกิจแห่งนี้ (ปี พ.ศ. 2559) มียอดเงินฝากทั้งสิ้น 161,158,927.17 บาทในขณะที่วงเงินปล่อยกู้จะกำหนดไว้ไม่เกิน 150 ล้านบาท หรือประมาณ 90 % ของยอดเงินฝาก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ได้จัดระบบการระดมเงินออมและการกู้ยืมของสมาชิก ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้จ่ายของสมาชิกซึ่งเป็นคนในภาคชนบท ประกอบไปด้วย (1) เงินกู้สำหรับการประกอบอาชีพเช่น วัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร (2) เงินกู้เพื่องานพิธีกรรม เช่น การจัดงานบวช งานแต่งงาน (3) เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน (4) เงินกู้ลอยฟ้า – กู้เพื่อซื้อสินค้าอุปโภค เช่น มอเตอร์ไซด์ ทีวี รถยนต์ การกู้เงินเพื่อกรณีต่างๆข้างต้น วิสาหกิจฯ จะกำหนดงวดการชำระคืนพร้อมกับคุณสมบัติเบื้องต้นว่าด้วยการออม นอกจากนั้นแล้วยังจะเกี่ยวข้องกับประเภทของการกู้ยืม เช่น กรณีกู้ยืมฉุกเฉิน (ซึ่งมีวงเงิน ไม่เกิน 3,000 บาท สมาชิกจะค้ำประกันด้วยสมุดเงินฝาก) กรณีการกู้สามัญ จะต้องมีสมาชิกค้ำประกันและบางกรณีจะต้องมีหลักทรัพย์ประกอบ แต่หากเป็นการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จะจัดเป็นการกู้แบบจำนอง คือ วิสาหกิจเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นก่อนแล้วจึงให้สมาชิกผ่อนชำระตามวิธีการของการออม/การชำระคืน นอกจากการระดมเงินออม การจัดระเบียบการกู้เงิน และการสร้างความตระหนักร่วมในการใช้จ่ายและการชำระคืนตามหลักปฏิบัติทั่วไปของกลุ่มออมทรัพย์แล้ว วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ยังได้จัดสรรเงินเพื่อการลงทุนเพื่อการอื่นๆที่เป็นการร่วมสร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชน เช่น (1) ร่วมลงทุนและร่วมบริหารในกิจการโรงแป้งขนมจีน (2) ร่วมลงทุนกับเทศบาลตำบลทอนหงส์ ในกิจการโรงปุ๋ยชีวภาพ (3) ร่วมลงทุนกับกลุ่มเกษตรกรในกิจการโรงรมยางพาราและอบแห้ง ซึ่งเป็นตัวอย่างของการขยายขนาด (scaling up) ของการสร้างเศรษฐกิจของชุมชน (การประกอบกิจการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนโดยการจัดการของชุมชน นอกจากนั้น การร่วมลงทุนข้างต้น ยังเป็นการร่วมทุนระหว่างวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ซึ่งเป็น “กองทุนชุมชน” กับผู้ประกอบการรูปแบบต่างๆ คือ (1) โรงแป้งขนมจีนเป็นการร่วมทุนกับ “ปัจเจกเอกชน” (2) โรงปุ๋ยชีวภาพเป็นการร่วมทุนกับ “องค์กรภาครัฐในท้องถิ่น” (3) โรงรมยางพาราและอบแห้งเป็นการร่วมทุนกับ “กลุ่มเกษตรกร” (4) การลงทุนในพันธบัตร/สลากออมสิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมการจัดการทางเศรษฐกิจที่ริเริ่มขึ้นในระดับชุมชนฐานล่าง