การทำสวนลำไยอำเภอโป่งน้ำร้อน

การทำสวนลำไยอำเภอโป่งน้ำร้อน

นายอุบล แคเหมือน เจ้าของสวนลำไย บ้านดงจิก หมู่ 5 ต.ทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า ผลผลิตลำไย สายพันธุ์อีดอ ที่ปลูกมากโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนคู่ค้าลำไยรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีการปลูกลำไยนอกฤดูกาล และกว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ชาวสวนลำไยในพื้นที่โป่งน้ำร้อน หันมาปลูกลำไยกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะสภาพพื้นที่ ที่เอื้อต่อการปลูกลำไยนอกฤดูกาล การมีผลผลิตจำนวนมากของลำไย จึงทำให้เกิดการแข่งขันของล้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นล้งจีน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในการรับซื้อลำไยสูงมาก แต่ก็เป็นผลดีต่อชาวสวน ที่จะขายและทำราคาได้ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของลำไยอีกด้วย เพราะการเข้ามาประมูลสวนลำไยของล้ง จะพิจารณาจากกระบวนการผลิต วิธีการจัดการที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้นทาง เมื่อได้ผลผลิตดีมีคุณภาพการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่งทุกกระบวนการเป็นหน้าที่ของล้ง แต่หากผลผลิตที่ออกพร้อมกันมากเกินไปบวกกับทิศทางที่ไม่สามารถบังคับให้มีคุณภาพได้ และประเทศคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเวียดนามที่กำลังเร่งการผลิตลำไย เพื่อจะแซงหน้าไทยให้ได้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญ ที่ชาวสวนและหน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้ามาร่วมกันหาทางออกว่า หากในวันข้างหน้าวิกฤตของลำไยเกิดขึ้น และส่งผลให้ราคาของลำไยจันทบุรีตกต่ำ ชาวสวนลำไยจะทำอย่างไรต่อไป ดังนั้น จึงต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์เหล่านี้ด้วย

การปลูกลำไย หลังจากแตกใบอ่อนได้ราวๆ 10 วัน คือเมื่อใบลำไยเริ่มคลี่แผ่ออก ก็จะต้องเริ่มฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยและฮอร์โมนทางใบ ปุ๋ยที่ใช้ก็จะใช้ปุ๋ยเกล็ด บวกสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามสถานการณ์ไปได้พร้อมกันเลย การฉีดสะสมอาหารจะฉีดพ่นด้วยสูตรนี้ทั้ง 3 ครั้ง ห่างกันทุกๆ 10 วัน เมื่ออายุใบลำไยได้ 45 วัน ใบลำไยจะอยู่ในระยะเพสลาด เราจะต้องราดสาร การราดสารจะใช้สาร จะฉีดพ่นในบริเวณรอบทรงพุ่มลำไย (ชายทรงพุ่ม) เดินฉีดเป็นวงกลม ให้วงกลมมีหน้ากว้างสัก 1 เมตร เพราะบริเวณชายพุ่มจะเป็นบริเวณที่มีรากฝอยเป็นจำนวนมาก

การให้น้ำ ควรรักษาความชื้นโดยให้น้ำทุก 3-5 วัน เพื่อให้รากดูดสารเข้าสู่ต้นให้มากที่สุด ประมาณ 3-6 สัปดาห์ หลังใช้สาร ลำไยจะเริ่มแทงช่อดอก ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารคลอเรต ได้แก่ ฝนตกชุก และระยะที่ต้นลำไยแตกใบอ่อน หลังราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเสร็จ ราว 5 วัน ก็จะต้องฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนทางใบ เพื่อกดใบไม่ให้ลำไยแตกใบอ่อน จากนั้น 21-30 วัน หลังที่เราราดสาร จะเป็นช่วงที่เหมาะแก่การ “ดึงดอก” ช่วย คือถ้าปล่อยให้แทงช่อดอกออกเอง ออกช่อดอกไม่สม่ำเสมอทั่วต้น เราจะต้องฉีดเพื่อดึงดอกช่วย ผสมแคลเซียมโบรอน และสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามสถานการณ์ ฉีดพ่นไปเรื่อยๆ ตามรอบของการดูแลรักษา การแต่งหรือการซอยผลลำไย จะทำกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกจะแต่งช่อลำไยตอนผลมีขนาดเท่าผลมะเขือพวง โดยมักจะตัดปลายช่อลำไยออก 1 ส่วน 3 ของความยาวช่อดอกลำไย โดยการตัดแต่งผลออกจะให้เหลือผลในช่อราว 60-70 ผล ซึ่งกำลังพอเหมาะ (ในกรณีที่ต้นลำไยติดผลดกมากกว่า 80 ผล ต่อช่อ จะเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้อาหารไม่พอเพียงที่จะส่งไปเลี้ยงผล ทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ) แล้วอีกสัก 20 วัน ก็จะกลับมาแต่งผล ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการเก็บตกจากรอบแรก เราต้องมาเก็บรายละเอียดอีกครั้ง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล : กิตติพร ปรีพันชู และนายอุบล แคเหมือน

ผู้ถ่ายภาพ : กิตติพร แหล่งข้อมูล สวนลำไยบ้านดงจิก