จุดชมวิวอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ

จุดชมวิวอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

เขื่อนคลองพระพุทธ หรือ อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ใน จังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านดงจิก ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี มีต้นน้ำอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกของเขาสอยดาวมีพื้นที่รับน้ำ เหนือที่ตั้งหัวงาน 188 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำเฉลี่ย 214.80 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ความยาวของลำน้ำถึงที่ตั้งหัวงาน 29.6 กิโลเมตร ลุ่มน้ำสาขา คือ คลองทุ่งกร่าง และคลองพังงอน เขื่อนคลองพระพุทธ นี้ จะกว้างใหญ่มากครอบคลุมพื้นที่ในตำบลหนองตาคง ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรีเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2542 และเสร็จในปี พ.ศ.2547 เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและการประมง สำหรับคลองพระพุทธ หรืออ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ทั้งนี้กรมชลประทานยังคงสานต่อโครงการด้วยการสร้างระบบคลองส่งน้ำ ส่งน้ำตรงไปยังพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดน้ำในการทำการเกษตร ที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ยางพารา ลำใย ผัก และพืชไร่ต่างๆ ซึ่งมีความยาวถึง 106 กิโลเมตร

อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาสอยดาว ซึ่งเป็นเทือกเขาต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายในภาคตะวันออก เช่น แม่น้ำจันทบุรี คลองด่าน คลองกั้นเขตแดนระหว่างไทย กัมพูชา คลองพระสะทึง จ.สระแก้ว แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางประกง จ.ฉะเชิงเทรา

อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สวยงาม เห็นวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกล มีวิวให้เห็นเป็นเกาะแก่ง เหมาะกับการถ่ายรูปวิวธรรมชาติ นั่งเที่ยวชมพระอาทิตย์ตกในยามเย็น ที่เห็นเป็นเขาสอยดาว ทำกิจกรรมต่างๆ และยังเป็นสถานที่จัดแข่งกีฬาบางประเภท เช่น การแข่งขันจักรยานชิงแชมป์แห่งประเทศไทย

อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ยังไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ เหมาะสำหรับพักผ่อนแบบธรรมชาติ ควรเตรียมน้ำและอาหารไปด้วย

โครงการคลองพระพุทธ หรือ อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธที่มีการดำเนินการก่อสร้างอยู่นี้จะเป็นแหล่งน้ำดิบที่จะไปหล่อเลี้ยงทั้ง 2 อำเภอ คือ อำเภอโป่งน้ำร้อน และ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค เป็นแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกรรม สำหรับพื้นที่ชลประทาน 52,400 ไร่ ในพื้นที่เขตอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี รองรับอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่โครงการและใกล้เคียง เพาะพันธุ์ปลา และประมงน้ำจืดให้ราษฎรใช้บริโภคและมีรายได้จากการประมงเพิ่มเติมจากการเกษตรกรรม ป้องกันอุทกภัยและวาตภัยให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทั้ง 2 อำเภอ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรีขยายตัวมากขึ้นอีกด้วย

ผู้เรียบเรียง : กิตติพร ปรีพันชู

ผู้ถ่ายภาพ : กิตติพร แหล่งข้อมูล โครงการชลประทาน