ความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง

ความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9) ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแก่พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า 30ปี ดังจะเห็นได้ว่า ปรากฏความหมายเป็นเชิงนัยเป็นครั้งแรกในพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9) ในปี พ.ศ. 2517 ที่พระองค์ได้ทรงเน้นยํ้าแนวทางการพัฒนาบนหลักแนวคิดที่พึ่งตนเอง เพื่อให้เกิดความพอมี พอกิน พอใช้ของคนส่วนใหญ่ โดยใช้หลักความพอประมาณ การคำนึงถึงการมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ดีในตัวเอง และทรงเตือนสติประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาท ตระหนักถึงการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชา และการมีคุณธรรมเป็นกรอบในการปฏิบัติและการดำรงชีวิต

ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าใจถึงผลจากการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงระดับความเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ พึ่งพิงความรู้ เงินลงทุน จากภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยไม่ได้สร้างความมั่นคงและเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีภายในประเทศ ให้สามารถพร้อมรับความเสี่ยงจากความผันผวนของปัจจัยภายในและภายนอกจนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการแกไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทยอย่างเป็นระบบด้วยการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา โดยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะความรู้ ทักษะและเจตคติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน