วิถีชีวิตเงาะป่าซาไก

กลุ่มเงาะป่าซาไก 32 ชีวิต ในจังหวัดพัทลุง พากันอพยพจากถิ่นอาศัยบนยอดเขาสูงเขตรอยต่อจังหวัดพัทลุง-สตูล ลงมาสร้างที่พักพิงใหม่บนพื้นที่ราบเหนืออ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน หัวหน้ากลุ่ม บอกว่าคาดการณ์ว่าในเวลาอันใกล้นี้จะมีฝนตกหนักกลางป่าเขาบรรทัด ทำให้เด็กๆได้รับความเดือดร้อน

ทำให้บรรยากาศเหนืออ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ท้องที่หมู่ 7 ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง กลุ่มเงาะป่าซาไกเขาบรรทัดจำนวน 32 คน นำโดยนางกุ้ง ศรีป่าบอน หัวหน้ากลุ่ม หรือกำนันซาไกกลุ่มบ้านโหล๊ะหาร ชักชวนกันขนย้ายข้าวของเท่าที่จำเป็น อพยพลงจากยอดเขาสูง บริเวณเขตรอยต่อจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดสตูล ไปสร้างทับ หรือสร้างที่พักแห่งใหม่บนพื้นที่ราบกลางป่าทึบเหนืออ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ห่างจากหมู่บ้านราว 3 กิโลเมตร

เมื่อกลุ่มเงาะป่าซาไกทั้งเด็กและผู้ใหญ่เดินบุกป่าไปถึงพื้นที่ราบ หาที่เหมาะกับการสร้างที่พักจำนวน 10 ครอบครัว เงาะที่เป็นผู้หญิงจะจัดแจงสร้างที่พักด้วยตัวเอง ส่วนพ่อบ้านทำหน้าที่ดูแลลูกๆ เด็กๆ อายุ 4-10 ปี เดินหายเข้าไปในป่าเพื่อหาขุดหัวมันและเก็บหาผลไม้ป่ามาจัดเตรียมไว้เป็นอาหารมื้อเย็น บ้างก็ช่วยกันหาฟืนมาก่อไฟ

หัวหน้ากลุ่มเงาะป่าซาไกกลุ่มบ้านโหล๊ะหาร บอกว่าปกติจะสร้างที่พักอยู่กลางป่าลึก ห่างจากอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอนไปไกลมาก แต่เนื่องจากทางกลุ่มคาดการณ์ว่าในเวลาอันใกล้นี้อาจมีฝนตกหนักกลางป่าเขาบรรทัด ทำให้เด็กๆได้รับความเดือดร้อน ตนในฐานะหัวหน้ากลุ่ม ได้ชวนกันย้ายที่พักออกมาอยู่ใกล้หมู่บ้าน ส่วนอาหารจะมีเงาะป่าที่เป็นผู้ชายเดินเข้าป่าไปขุดหาหัวมัน และเมื่อออกมาอยู่ใกล้หมู่บ้าน จะมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมอบอาหารให้บ้าง ส่วนจะพักอยู่ตรงจุดนี้นานแค่ไหนนั้นหากสามารถหาอาหารกินได้จะพักอยู่ตรงจุดนี้ไปจนกว่าอาหารที่เก็บหาได้จากป่าธรรมชาติจะหมดไป

สำหรับพื้นที่ป่าเขาบรรทัดเขตรอบต่อจังหวัดพัทลุง-ตรัง-สตูล เป็นที่อยู่อาศัยของเงาะป่าซาไก ซึ่งในส่วนของจังหวัดพัทลุงมีเงาะป่าซาไกแยกออกเป็น 3 กลุ่ม รวมสมาชิกประมาณ 70 คน สร้างที่พักชั่วคราวอยู่กลางป่าเขาบรรทัดในเขตอำเภอป่าบอน อำเภอตะโหมด และ อำเภอกงหรา เมื่อถึงช่วงหน้าฝนเงาะป่าซาไกจะย้ายทับไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพราะเกรงว่าน้ำป่าจะไหลหลาก และมีบางกลุ่มลงมาสร้างที่พักชั่วคราวพักอยู่ใกล้หมู่บ้าน เมื่อพ้นหน้าฝนก็จะอพยพกลับเข้าไปอยู่ในป่าลึก เพราะจะสะดวกกับการเก็บหาอาหารมาสร้างครอบครัว