วัดตะโหมด

วัดตะโหมด

ที่ตั่ง เลขที่ ๖๐ ม. ๓ ตำบลตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ๙๓๑๖๐

เจ้าอาวาส ชื่อ พระครูอุทิตกิจจาทร

รองเจ้าอาวาส ชื่อ พระครูสุนทรกิจจานุโยค เจ้าคณะอำเภอตะโหมด

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสชื่อ พระครูสังฆรักษ์วิชาญ ปสนฺนจิตฺโต

ประวัติของวัดตะโหมด

ประวัติวัดตะโหมด

วัดตะโหมด ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๖๐ หมู่ที่ ๓ ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตรว. นส. ๓ เลขที่ ๘๒๑ – ๒๒๕

อาณาเขต

ทิศเหนือ จดถนนสาธารณะและที่ดินของนายเวียงดำเม็ง

ทิศใต้ จดที่ดินของนายจัด ฤทธิเดชและนายสวาท ทองรักษ์

ทิศตะวันออก จดถนนสาธารณะ

ทิศตะวันตก จดที่ดินของนางแผ้ว ชนะสิทธิ์ และนางอำนวย ฤทธิเดช

วัดตะโหมด ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีพระครูอุทิตกิจจาทร เป็นเจ้าอาวาส สังกัดมหานิกาย มีประวัติความเป็นมาดังนี้ วัดตะโหมดตามหลักฐานที่ปรากฏได้ตั้งมาเป็นเวลา 100 ปีกว่ามาแล้ว ครั้งแรกได้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดปัจจุบัน ระยะห่างกันประมาณ 5 เส้น แต่วัดเก่านี้ ประชาชนมักเรียกตามลำแม่น้ำว่า วัดเหนือ เพราะอยู่เหนือต้นลำธารของวัดปัจจุบัน.

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2370 หลวงพ่อไชยทอง หรือชาวบ้านมักเรียกท่านว่า พ่อแก่ไชยทอง ได้อยู่ปกครองวัดเหนือมาตามลำดับ แต่วัดเหนือแห่งนี้สันนิษฐานว่าคงไม่ได้รับอนุญาตสร้างเหมือนวัดปัจจุบันนี้ คงเป็นแค่เพียงสำนักสงฆ์ (ที่พักสงฆ์) เท่านั้น.

ครั้นมาถึงประมาณ พ.ศ. 2450 ได้มีหลวงพ่อเปีย ซึ่งเป็นพระที่ชอบแสวงหาที่สงัดในการบำเพ็ญภาวนา คือชอบอยู่ตามป่าช้า ได้เดินทางมาจาก วัดดอนคัน ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ได้มาเห็นป่าช้าแห่งนี้ ( บริเวณวัดปัจจุบัน ) เป็นที่สงบเงียบเหมาะแก่พระภิกษุจะใช้เป็นที่เจริญภาวนาในกาลต่อไป จึงคิดจัดตั้งสำนักสงฆ์ ( วัดปัจจุบัน ) ลงในป่าช้าแห่งนี้ ประชาชนก็ได้ช่วยกันบุกเบิกให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ ตั้งแต่นั้นมาและชาวบ้านมักเรียกวัดปัจจุบันว่าวัดใต้ เพราะอยู่ใต้แม่น้ำลำธาร ตอนนั้นมีวัดบ้านตะโหมดมีถึง 2 วัดคือ วัดเหนือ และวัดใต้ ทั้ง 2 วัดนี้คงไม่ได้รับอนุญาตจดทะเบียนให้วัดถูกต้องตามกฎหมายเหมือนอย่างทุกวันนี้ กาลต่อมาเมื่อสำนักแห่งนี้ ( วัดใต้ ) เจริญขึ้นตามลำดับ ประชาชนก็เกิดความเลื่อมใส่ศรัทธาใคร่จะบวชในสำนักสงฆ์แห่งนี้ จึงได้ช่วยกันจัดสร้างศาลาลงในแม่น้ำลำธาร เพื่อที่จะได้ทำการอุปสมบท เพราะในสมัยนั้นต้องใช้ศาลาในน้ำเป็นที่ทำสังฆกรรมของสงฆ์

ในปีพ.ศ. 2453 ชาวบ้านได้นิมนต์ พระช่วย อินฺทสโร มาจากวัดช่างทอง ( เดิมเป็นชาวปัตตานี ) มาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ โดยมีพระครูจัน วัดสังฆวราราม ( วัดสังเขย่า ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนหลวงพ่อเปีย เมื่อท่านชราภาพมากแล้วท่านก็กลับไปสู่ภูมิลำเนาเดิมของท่าน ต่อมาพระช่วย อินฺทสโร ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิการช่วย อินฺทสโร เจ้าอาวาสวัดตะโหมด เป็นองค์แรกถูกต้องตามกฏหมาย ตั้งแต่ พ.ศ. 2453 ตามเลขทะเบียนกรมการศาสนาจนทุกวันนี้

ในปีพ.ศ. 2464 เมื่อพระช่วย อินฺทสโร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส แล้วทางราชการได้อนุญาตให้เปิดโรงเรียนขึ้นที่วัดตะโหมดเป็นครั้งแรก ในวันที่ 12 มีนาคม 2464 โดยมีนายล้อม ชนะสิทธิ์ ( ขุนประนามตะโหมดภัย ) เป็นครูใหญ่ ซึ่งได้อาศัยศาลาการเปรียญเป็นสถานที่เล่าเรียนของกุลบุตรกุลธิดาสมัยนั้น.

ในปีพ.ศ.2477 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสร้างอุโบสถ จนสำเร็จ และได้ผูกพัทธสีมา เมื่อวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ในระหว่างที่พระอธิการช่วย อินฺทสโร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่นั้น ท่านได้ขยายเนื้อที่บริเวณวัดออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 ไร่.

ในปีพ.ศ. 2481 พระอธิการช่วย อินฺทสโร ก็ถึงแก่มรณภาพลง ซึ่งมีพระเลื่อนและพระเซ่ง ซึ่งเดินมาจากวัดเชิงแส อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นผู้ดูแลรักษาอยู่ระยะหนึ่ง.