การแต่งกายของชาวกูย

ในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงสูงอายุชาวกูยส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าที่มีลายเป็นแบบเฉพาะของชาวกูย และใส่เสื้อคอกระเช้าธรรมดา บางคนก็ใส่เสื้อแบบชาวบ้านทั่วๆไป เป็นที่น่าสังเกตว่าหญิงสูงอายุมักจะชอบใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหูที่เจาะไว้ เช่น ดอกมะลิ บางคนก็ซื้อตุ้มหูเงินมาใส่ เป็นต้น

”“ธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวกูยนั้นกำหนดว่า ลูกหลานจะต้องมีหน้าที่ดูแลการแต่งกายของแม่โดยให้แม่ซึ่งมีอายุมากแล้ว ได้นุ่งผ้า นุ่งไหม ลายพื้นเมือง บ้านใดที่ผู้สูงอายุนุ่งผ้าด้ายธรรมดา แสดงว่าลูกหลาน ขาดการเอาใจใส่ ไม่ช่วยรักษาศักดิ์ศรีของแม่”

ผ้าไหมเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทอขึ้นใช้เองในครอบครัวเมื่อมีเวลาว่างจากการทำนา แม่จะสอนให้ลูกสาวทอผ้าไหมเมื่อย่างเข้าวัยสาว เมื่อแต่งงานออกจากเรือนพ่อแม่ก็จะแบ่งผ้านุ่งไหม ผ้าโสร่ง ผ้าสไบ ให้เป็นมรดก รองจากมรดกประเภทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ นอกจากนี้ พ่อแม่ยังมอบเรือนพักอาศัยพร้อมกี่ หูกทอผ้า และอุปกรณ์การทอไหมให้แก่ลูกสาวคนสุดท้องอีกด้วย

ในปัจจุบันการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมเริ่มลดน้อยลง ชาวกูยส่วนใหญ่นิยมที่จะซื้อด้ายจากตลาดมาทอเพราะสะดวกกว่า หมู่บ้านที่ยังคงมีการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมอยู่และพบมากที่สุดคือบ้านตรึมแตล อำเภอศรีขรภูมิ บ้านสำโรงทาบ อ.สำโรงทาบ บ้านตากแดด อ.เมือง ตามลำดับ การทอผ้าไหมของชาวกูย แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

๑.ประเภทผ้านุ่ง

ผ้านุ่งสตรี มักนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งใช้ไหมควบ ยืนพื้นสีน้ำตาลอมดำ มีหัวซิ่น ที่ยีนพื้นสีแดง ลายขิด ตีนซิ่นพื้นดำขนาด ๒-๓ นี้ว มีริ้วสีขาวเหลืองแดง ผ้านุ่งแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ

ก.จิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกหรือผ้ากะเนียวของชาวไทยเขมร มีสีเดียวลักษณะจะออกเหลือบมัน เป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีการสำคัญต่าง ๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่งของกลุ่มชาวไทยเขมร นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในการคลุมศพคนตายด้วย

ข.โสร่ง เป็นผ้าตารางสี่เหลี่ยมใหญ่ มีหลายสีในการทอผ้าจะนำเส้นไหมมา “กวี” หรือมาควบกัน ๒ เส้นเพื่อให้เกิดความมันและหนาลักษณะการทอเหมือกับผ้าโสร่งของชาวไทยลาวหรือเขมร

ค.จะวี เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าอันลูซีมของชาวไทยเขมร จะมีลายทางยาวเป็นร่องเล็กๆเป็นผ้าที่ผู้หญิงฝ่ายชายเพื่อไหว้ปู่ ย่า ผู้ที่เป็นสะใภ้จะต้องทออึมเปิล (หัวซิ่น)และเจิง(ตีนซิ่น) มอบให้โดยไม่ต้องเย็บกับจะกวีหรือผ้าถุง ในพิธีแต่งงานของชาวกูยจะต้องให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวถือ “เคียวเกี่ยวข้าว” อันเดียวกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความเกี่ยวพันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ง.จิกโฮล เป็นประเภทผ้ามัดหมี่ ลายต่าง ๆ จะเรียกว่า “จิกโฮล” การนุ่งผ้าประเภทนี้จะต้องต่อเจิง (ตีนซิ่น) และอึมเปิล (หัวซิ่น) เซ่นเดียวกับ จะวี

๒.ประเภทผ้าสไบ

ผ้าสไบที่ใช้พาดบ่าหรือเป็นผ้าเบี่ยงของชาวกูยจะทอเป็นผ้ายกดอกหรือยกเขา เรียกว่า “ตะกอ” ผ้าสไบที่มีลักษณะการทอเช่นนี้เรียกว่า “ผ้าแก็บ” จะทอแล้วนำมาตัดเป็นตัวเสื้อและผ้าสไบ ตัวเสื้อนิยมเป็นสีดำ โดยนำผ้าไหมที่ทอเป็นสีขาวหรือเหลืองตามลักษณะของไหม แล้วไปย้อมมะเกลือให้เป็นสีดำ ผู้ชายจะใช้ผ้าขาว ๒ ผืน เป็นผ้าเบี่ยงในการแต่งกายออกงานพิธี ผู้หญิงใช้ผ้าไหมยกดอกสีดำหรือสีขาวเป็นผ้าเบี่ยง เรียกว่า “สไบแวง” (สไบดำ) หรือ“สไบบัวะ” (สไบขาว) นอกจากนี้ยังมีผ้าสไบโพกหัว เรียกว่า “สไบเจียดตรุย” ทอด้วยฟืมสั้นขนาด ๑๒ ล็อบ เก็บลายขิด ๔-๕ ลาย จัดระยะสวยและเป็นระบบ มีชายครุยทั้งสองข้างห้อยลูกปัดเล็กๆ เรียกว่า ปอนจุ๊ ใช้โพกศรีษะทั้งชายหญิง เวลาออกงาน เช่น การแห่บั้งไฟ งานบวชนาค

๓.ประเภทหัวซิ่นและตีนซิ่น

ก.ประเภทหัวซิ่น เรียกว่า อึมเปิล จะทอเป็นลายขิด คล้ายของชาวไทยลาวซึ่งใช้สำหรับต่อเป็นหัวซิ่น เวลานุ่งจะทิ้งชายลงมาให้ห้อยเป็นพกไว้ใส่เงิน หรือสิ่งของอย่างอื่นที่จำเป็น ผ้าคาดเอวของผู้ชาย จะทอเหมือนหัวซิ่นต่มีความกว้างมากกว่า เช่น หัวซิ่นขนาดพื้น ๔-๕ ล็อบแต่ผ้าคาดเอาใช้ขนาดฟืม ๗-๘ ล็อบ โดยยืนพื้นสีแดงเช่นกัน เก็บลาย (แกะเลีย) เป็นขิดเป็นระยะๆ วิธีใช้จะทำผ้าซับในก่อน แล้วนำว่านหรือหรือเครื่องรางของขลังที่ถือว่าเป็นของดีสำหรับป้องกันอันตรายต่าง ๆ มาห่อด้วยผ้าผืนนี้แล้วใช้เขาวง (กวางหรือเก้ง) หรือเถาวง (เถาวัลย์ของพืชบางชนิด)มามัดเป็นเปลาะ ห่างกันเป็นระยะไว้คาดเอาเวลาจะออกไปจับช้างในป่า ซึ่งผู้ชายกูยถือว่าการมัดเป็นเปลาะโดยเขาวงหรือเถาวงนั้นมีความหมายมาก เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เป็นวงกลมนั้นแทนความวงเวียน เมื่อเห็นช้างและช้างเห็นตนแล้ว ก็จะวนกลับมาหาตนใหม่ ของดีที่ใช้ป้องกันตัวนั้นคนไทยเขมรจะใช้คล้องคอแต่ชาวกูยจะใช้คาดเอว ผ้าคาดเอวจะแขวนไว้ที่สูงห้ามสตรีจับต้องการทำผ้าคาดเอวจากผ้าขิดหัวซิ่นของผู้หญิงนั้น ก็เพื่อเป็นสิ่งแทนตัวในยามห่างไกลจากบ้าน คำว่าหัวซิ่นก็เป็นของสูงและดี ฝ่ายชายจึงใช้ห่อเครื่องลางของขลัง

ข. ประเภทตีนซิ่น มี 2 ชิดคือ

เจิง หรือ ยืง เป็นตีนซิ่นที่มีความกว้างประมาณ 2 นิ่ว นิยมสีดำ ดดยทอเป็นผ้าฝ้าย ริมขอบล่างสุดใช้ไหมสีเหลือง แดง การนำเส้นไหมมาทอเป็นริมของซิ่นอาจเป็นเพราะไหมทนและเหนียวกว่า ส่วนการใช้ผ้าฝ้ายทอเป็นเชิงนั้นก็เพื่อให้ผ้าซิ่นมีน้ำหนัก กระบูล เป็นตีนซิ่น ที่มีลายเป็นผ้ามัดหมี่เหมือนกะโบลของชาวไทยเขมร อาจเพราะรับเอาวัฒนะรรมมาจากชาวไทยเขมร เพราะชาวกูยจะเรียกผ้าที่มีลวดลายทั้งหลายว่า ผ้าโฮล หรือ จิกโฮล