นาเกลือบ้านดุง

เกลือ

เกลือมี 3 ประเภท คือดอกเกลือจากเกล็ดเกลือลอยอยู่บนผิวน้ำ เกลือระหว่างการต้มมีลักษณะที่แตกต่างคือสีขาวนวล น้ำหนักเบาเหมาะสำหรับนำไปบริโภคปรุงอาหารและทำสปาเกลือ เม็ดเกลือได้จากการต้ม และผลึกเกลือ จากการตกผลึกหลังการต้มเป็นแผ่น เหมาะสำหรับเป็นอาหารสัตว์ แม่ค้าตามร้านค้าริมถนนจะนำเกลือสามแบบนี้มาวางขายให้กับชาวบ้านที่ผ่านไปมาและซื้อกลับบ้าน บรรจุใส่ถุง ราคาตั้งแต่ 20 บาท ถึงถุงละ 100 บาท ส่วนดอกเกลือพิเศษบรรจุถุงใส สวยงาม น่าซื้อ ถือว่าเป็นสินค้าโอท็อปของอำเภอบ้านดุง

การทำนาเกลือสินเธาว์

เกลือ ที่เรารู้จักและนำมาบริภคนั้นมี 2 ชนิด คือเกลือสมุทร (Sea salt) คือ เกลือที่ได้จากสูบน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ในที่นา ผึ่งแดดและลมจนน้ำระเหยเหลือแต่ผลึกเกลือสีขาว เกลือสินเธาว์ หรือ เกลือหิน (Rock salt) หมายถึง เกลือที่่ได้จากดินเค็ม (ไม่ได้มาจากเกลือสมุทรโดยตรง) โดยนำเอาน้ำเกลือจากการละลายหินเกลือที่อยู่ใต้ดินมาต้มเคี่ยวจนได้เกลือเนื้อละเอียดสีขาว พื้นที่ภาคอีสานครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง โครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็น 2 ลักษณะ คือ เป็นแอ่ง (Basin) และขอบแอ่งที่เป็นภูเขาสูง (Mountain Range) แบ่งได้ 2 แอ่ง เรียกว่า ”แอ่งโคราช และ แอ่งสกลนคร” ทั้ง 2 แอ่งมีชั้นเกลือหินที่รองรับอยู่ใต้ดินเป็นโดมเกลือ (Salt Dome) ขนาดใหญ่ ชั้นเกลือหินจะสัมผัสกับชั้นน้ำบาดาลเกิดการละลายเป็นชั้นน้ำเค็ม บางพื้นที่ชั้นน้ำเค็มพุ่งขึ้นถึงผิวดินที่มีอุณหภูมิสูง ก็เกิดการระเหยอย่างรวดเร็วทิ้งผลึกเกลือเล็กๆ อยู่บนผิวดินเป็นคราบสีขาว สภาพพื้นที่ที่เป็นดินเค็มมีคราบเกลือนี้เอง ชาวอีสานนำไปผลิตเกลือสินเธาว์ที่มีคุณประโยชน์มหาศาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในภาคอีสานมีชุมชนที่ผลิตเกลือในระดับอุตสาหกรรมโบราณ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณบ่อพันขัน เขตทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และบริเวณลุ่มน้ำสงครามแอ่งสกลนคร

หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในหน้าแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตามท้องนาจะมีดินเอียด หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า ขี้ทา (ดินเค็มที่มีละอองหรือส่าเกลือ) ขึ้นมาบนผิวดินให้เห็นเป็นสีขาวหรือสีเทา ชาวบ้านลงมือขูดดินเอียดเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการต้มเกลือ ก่อนต้มเกลือชาวบ้านจะทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่ เพื่อเป็นศิริมงคลขอให้การต้มเกลือไม่มีอุปสรรค และให้ได้ผลผลิตมากตามต้องการ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการต้มเกลือ


ปัจจุบันในภาคอีสานมีการผลิตเกลืออยู่ 3 รูปแบบ คือ

การผลิตเกลือแบบดั้งเดิม ดังที่กล่าวมาข้างต้น นิยมผลิตทั่วไปในบริเวณจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตเกลือลักษณะนี้เริ่มลดจำนวนลง เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ป่าไม้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ชาวบ้านไม่มีฟืนมาใช้ในการเคี่ยวหุงเกลือ และสาเหตุจากเกษตรกรใช้สารเคมีในการทำนา ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในดิน ดินเอียดก็ไม่สามารถนำมาผลิตเกลือได้ รวมถึงคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาการผลิตเกลือแบบดั้งเดิม หรืออาจเป็นเพราะยุคสมัยใหม่ความสะดวกสบายมีมากขึ้น และเกลือไอโอดีนที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขมีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป การผลิตและบริโภคเกลือแบบดั้งเดิมของชาวอีสาน จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร

การผลิตเกลือโดยวิธีสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาเคี่ยวหุง ชุมชนที่ผลิตเกลือลักษณะนี้คือ บ่อเกลือหัวแฮด บ้านท่าสะอาด ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ

การผลิตเกลือด้วยวิธีสูบน้ำเค็มจากใต้ดินขึ้นมาตากแดด ที่เรียกว่า นาเกลือ อยู่ที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และอุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา