ของชำร่วย

ประวัติความเป็นมาของ “ของชำร่วย”

ประวัติความเป็นมาของ ของชำร่วยนั้น เป็นสิ่งที่ยากแก่การสืบหาหลักฐาน เนื่องจากมิได้บันทึกเป็นหลักฐานใด ๆ ที่กล่าวไว้โดยตรง มีการกล่าวถึงพิธีการแต่งงานและของชำร่วยในหนังสือ ประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน – แต่งงาน ของพระยาอนุมานราชธน ประเพณีแต่งงานของเจ้านายในสมัยก่อน เจ้านายทรงหาหม่อมได้เองตามใจชอบ ไม่มีพิธีแต่งงาน มามีพิธีแต่งงานขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นครั้งแรก แต่ในหนังสือสิ่งแรกในประเทศไทย เล่ม 4 ของสงวน อั้นคง ได้กล่าวถึงการ์ดเชิญแต่งงานเก่าแก่ที่สุด มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2419 ที่ทรงพระราชทานไปยังมิสเตอร์ทอมาสยอช มอกส์ กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพ ณ ขณะนั้น ได้ทรงส่งการ์ดเชิญงานอภิเษกสมรสระหว่างหม่อมเจ้าชายเดช กับหม่อมเจ้าหญิงแก้วกัลยา ซึ่งเป็นหลานของรัชกาลที่ 4 ทั้งคู่ สันนิษฐานว่า อาจจะมีที่ไม่ได้จะเป็นระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนเหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 และในการกล่าวถึงพิธีแห่ขันหมากในหนังสือ ประเพณีในการปลูกเรือน – แต่งงาน ของพระยาอนุมานราชธน ว่า มีของชำร่วยแถมพกสำหรับทุกคนในขบวนขันหมาก และเถ้าแก่ของทั้งฝ่ายเจ้าสาว – เจ้าบ่าว จะได้แถมพกพิเศษกว่าคนอื่น ๆ ของเหล่านี้ฝ่ายเจ้าสาวเป็นฝ่ายจัดหามาแถมพกทั้งสิ้น ของแถมพกในปัจจุบันมักจะเป็นเงินใส่ซอง สมัยก่อนคงแจกผ้าไหม ผ้าห่ม และกล่าวถึงของชำร่วยโดยตรงพิธีรดน้ำว่า แขกที่รดน้ำออกมาก็ได้รับของชำร่วย ซึ่งบางทีก็มีแบ่งชั้น ถ้าเป็นแขกผู้ใหญ่มีหน้ามีตาก็ได้รับพวงมาลัย ถ้าเห็นว่าเป้นแขกสามัญก็ได้รับแต่ช่อบุหงา