การสานกระติบข้าว

ประวัติ

การสานกระติบเป็นงานหัตถกรรมที่มีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม และค่านิยมในการบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักของคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แต่เดิมภาชนะที่ใช้บรรจุข้าวเหนียวมักทำจากต้นไม้ต้นเล็กๆ นำมาเจาะลำต้นให้กลวงแล้วตัดเป็นท่อนขนาดสั้นๆเป็นกระบอก มีฝาปิด หรือบางครั้งก็ใช้ไม้ไผ่มาตัดเป็นกระบอกสั้นๆนำมาเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว ต่อมามีการคำนึงถึงปริมาณไม้ไผ่ในพื้นที่ซึ่งมีมากบ้างน้อยบ้างและความสะดวก หากนำต้นไผ่มาทั้งต้นแบบเดิมต้นไผ่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้งภาชนะบรรจุข้าวเหนียวรูปแบบเดิมก็เทอะทะ พกพาไม่สะดวกในการเดินทางไกล

จึงมีการริเริ่มนำเอาไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีกเล็กๆ มาเหลาเป็นแผ่นบางๆ นำมาจักสานเป็นตะกร้ากระบุง บรรจุข้าวสาร และพัฒนานำไม้ไผ่มาจักสานมาเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว (กระติบ) ซึ่งมีน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดีทำให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ซึ่งจะทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในยังมีความร้อนและข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ พกพาง่ายเพราะมีการทำสายสะพาย อีกทั้งยังมีหลายรูปแบบ รูปทรงกลม รูปทรงรี หลากหลายขนาดสอดคล้องกับการใช้งาน คือ กระติบขนาดเล็กสำหรับบรรจุข้าวเหนียวสำหรับรับประทานคนเดียว ขนาดกลางสำหรับรับประทาน 2-3 คน ขนาดใหญ่สำหรับรับประทานทั้งครอบครัว เป็นต้น

ซึ่งผู้สานจะใช้ช่วงเวลาว่างหลังจากการทำไร่ทำนา เลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งหาได้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นเครื่องจักสาน เพื่อความสุข สนุกเพลิดเพลินในการรวมกลุ่มกันทำงานหัถกรรม ตลอดจนสนองประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนของตนเองและสมาชิกในครอบครัว การสานกระติบเป็นงานที่มักจะกระทำกันภายในครอบครัวหรือชุมชน ซึ่งหลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้ว คนในครอบครัวจะมารวมกันเพื่อช่วยกันทำงาน ทำให้เกิดความอบอุ่น สมัครสมานสามัคคีเพราะเมื่อมารวมตัวกันทำงาน ก็จะมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนสอนลูกสอนหลานไปด้วย

ก่อให้เกิดให้เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ตกทอดและสืบสานกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจึงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความ งามบริสุทธิ์แบบธรรมชาติ สะท้อนถึงความเป็นอิสระและการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาดและความสามารถของผู้จักสาน ชี้ให้เห็นคุณค่าทางอารธรรมในการเข้าใจใช้วัสดุธรรมชาติให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของการดำรงชีวิต อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานอีกด้วย