ประวัติ
ความเป็นมา

ความเป็นมา

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลได้กำหนดแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสและจัดการศึกษาสำหรับประชาชนนอกระบบโรงเรียน มีการตราพระราชกฤษฎีกาตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียนขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการจัดบริการการศึกษาที่หลากหลายให้ประชาชน ทั้งนี้เพราะความจำเป็นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นับวันจะมีมากขึ้น หัวใจของการพัฒนาประเทศอยู่ที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษานอกโรงเรียนเป็นกลไกสำคัญที่เข้าถึงหัวใจของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงจำเป็นต้องเป็นกลไกที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง คุณภาพของกลไกดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับระดับสมรรถภาพของผู้ฝึก (trainers) ผู้จัดกิจกรรม ผู้บริหารของกรมการศึกษานอกโรงเรียนและของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ
ในช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับประชาชนได้ขยายการจัดการไปสู่ส่วนภูมิภาค ทั้งที่ดำเนินการเอง และส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานอื่น เช่น การประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคแถบเอเชียและมีหลายครั้งที่ได้รับรางวัลระดับโลก ประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ให้ความสนใจส่งนักศึกษามาศึกษาดูงาน จนมีข้อเสนอแนะจากหน่วยงานระหว่างประเทศ ให้ประเทศไทยได้จัดตั้งสถาบันเพื่อสนองความต้องการในการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการจัดการศึกษานอกโรงเรียนของประเทศไทยในช่วงทศวรรษนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่เพียงประชาชนเท่านั้น แต่รวมถึงการศึกษาและผู้ให้การศึกษา ซึ่งเป็นผู้สื่อสารวิทยาการไปสู่ประชาชนด้วย
เนื่องจากสถาบันนี้มีภารกิจหลักมุ่งไปที่การฝึกอบรมผู้ให้การศึกษาและฝึกวิชาชีพแก่ประชาชน การศึกษา วิจัยและพัฒนาการฝึกทักษะต่างๆแก่ประชาชน เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต อันเป็นงานหลักของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการศึกษานอกโรงเรียนจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับพระราชทานนามว่า
“สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร”