ศาลเจ้าร่อน-เจ้าตรัง

อยู่ที่บ้านหัวเหมือง หมู่ที่ 2 ตำบลร่อนพิบูลย์ อยู่ติดกับถนนสายหัวเหมือง - ไม้หอม รูปทรงลักษณะของศาล หรือ ตัวอาคารเป็นอาคารคอนกรีต ขนาดประมาณ 5 * 6 เมตร สูง 3 เมตร พื้นคอนกรีตปูกระเบื้องเคลือบสี ตัวอาคารสีแดงสลับน้ำตาล เขียนบอกว่าสร้างปี 2541 ชาวบ้านบอกว่าศาลมีมานานแล้ว เมื่อชำรุดทรุดโทรมก็สร้างขึ้นใหม่ โดยมีผู้จิตศรัทธา หรือบ้างครั้งก็ร่วมด้วยช่วยกันสืบชาวบ้านในละแวกนั้น บางคนบอกว่าคงมีมาไม่น้อยกว่า 500 – 600 ปีก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะสมัยที่ท้องที่อำเภอร่อนพิบูลย์บางจุด บางแห่ง บางที่ยังมีร่องรอยและหลักฐานบางอย่างแสดงให้เห็นว่ามีการเดินเรือ เช่น

บ้านเภาเกย หรือภูเกย คือ บ้านควนเกย

บ้านเสาธง ( ตำบลเสาธง ) ชาวบ้านคุดบ่อเคยพบสมอเรือ และโอ่ง ไห ถ้วยชามที่มีลักษณะบ่งบอกว่า เป็นของต่างประเทศ

บ้านดอนกลาง บอกว่าเมื่อเรือสำเภาล่ม ส่วนตรงกลางของเรือสำเภามาตอกอยู่ที่บ้านดอนกลาง ฯลฯ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่สามารถจะเขียนให้หมดได้ เนื่องจากเนื้อที่ และเวลาจำกัด

เกี่ยวกับ ศาลเจ้าร่อน – เจ้าตรัง เล่ากันว่ามีเรือสำเภามาจากเมืองตรัง (จังหวัดตรัง) มาล่มตรงจุดนี้ มีบุคคลสำคัญตาย 2 คน คนหนึ่งเป็นคนจังหวัดตรัง อีกคนหนึ่งไม่สามารถสืบทราบได้ จึงเหมาหรือยกให้เป็นคนร่อนพิบูลย์ จึงให้ชื่อว่า “เจ้าร่อน - เจ้าตรัง” ชาวบ้านกราบไหว้บูชานับถือ ส่วนมากเชื่อว่าเพราะเชื่อว่าศักดิ์สิทธ์ให้คุณให้โทษได้ บนบานศาลกล่าวก็รับ และต้องแก้บนด้วยไก่ ไม่รับการแก้บนด้วยหมู

คนที่เล่าเรื่องนี้ให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟัง คือนายแสง บุญวงศ์ ปัจจุบันนี้เสียชีวิตแล้ว หากยังมีชีวิตอยู่อายุประมาณ 100 กว่าปี นอกจากนั้นยังมีเล่าให้ฟังอีกหลายคน ที่พอจะจำชื่อได้คือ นางสมศรี ณ สุวรรณ นอกจากนั้นจำชื่อไม่ได้

ผู้สืบค้นข้อมูล นายสมจิต ฤทธิรัตน์