วัฒนธรรม

ตุงซาววา ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่แสดงถึงความสามัคคีของคนในชุมชน ตุงซาววาเปรียบเสมือนเป็นประเพณีประจำเมืองง้าวเงินมาแต่อดีต วิถีชีวิตของคนทำตุงซาววาในชุมชนมีความเชื่อเรื่องตุง และมีการถ่ายทอดฝึกฝนจากบรรพบุรุษ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และวัดในชุมชน ตุงซาววาจึงสามารถเป็นสิ่งแสดงออกถึงความสามัคคี จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

การทำตุงซาววาต้องใช้ผ้าที่มีความยาว 20 วา ซึ่งคำว่า “ซาว” แปลว่า “ยี่สิบ” ตุงซาววา ก็คือ ตุงที่มีความยาว ยี่สิบวา หรือประมาณ 40 เมตร ในอดีตคนในชุมชนจึงมีการปลูกฝ้ายเพื่อทำการทอผ้าและประดิษฐ์ตกแต่งตุงซาววาให้สวยงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ในการทำตุงซาววาไม่จำเป็นต้องมีความยาวตามที่กำหนดก็ได้ ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของผู้ทำ แต่จะต้องมีห้อง (ช่อง) อย่างน้อย 16 ห้อง

ในปัจจุบันอำเภองาวมีโบราณสถานที่สำคัญคือวัด 4 วัด ที่มีความเกี่ยวข้องกับผืนผ้าตุงซาววา ได้แก่ วัดน้ำจำ (วัดดอนมูล) เป็นวัดที่มีความเกี่ยวกับตำนานของตุงซาววา วัดปงคก เป็นวัดที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดทำตุงซาววา วัดพระธาตุม่อนทรายนอน เป็นสถานที่ในการถวายตุงในสมัยปัจจุบัน และ วัดศรีมุงเมือง เป็นวัดแรกของชาวอำเภองาว