การทอเสื่อกก

ข้อมูลส่วนตัวของผู้ประกอบภูมิปัญญาท้องถิ่น 

         นางประยูร  ภิญโญ  ปัจจุบันอายุ 64 ปี  อาศัยอยู่บ้านเลขที่  61 บ้านห้วยก่องข้าว  หมู่ที่ 11 ตำบลผานกเค้า          อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

   เดิมที นางประยูร  ภิญโญ ก่อนที่ได้จะมาทำการทอเสื่อกก  มีอาชีพเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป ซึ่งรายได้จะได้เฉพาะฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต และรายรับไม่พอกับรายจ่าย จึงคิดอยากทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทาง  โดยตนเองมีความรู้ความสามารถในการทอเสื่อกกอยู่แล้ว     โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นคือต้นกก  นำมาทอเสื่อกก  ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในทอเสื่อซึ่งสืบทอดมาจากรุ่นยาย  จึงรวมกลุ่มแม่บ้านในชุมชนประมาณ 4-5 คน ช่วยกันหาวัสดุ ต้นกก ที่มีในชุมชน วัสดุ อุปกรณ์  มาทอเสื่อกกภายในกลุ่ม  เริ่มขายภายในชุมชนและออกขายตามตลาดนัดทั่วไป  โดยสมาชิกในกลุ่มก็ได้ไปต่อยอดเรียนรู้เรื่องลวดลายเพิ่มเติม ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้นและมียอดสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น  ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เสริมและเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัว

       ประวัติความเป็นมาของภูมิปัญญาท้องถิ่น

 การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น   ย้อมสี แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน หรือทำธุรกรรมต่างๆ    ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ

       เสื่อกก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะต้นกก เป็นพืช ธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาคและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกกมาแปรสภาพ ก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกันทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง ต่อการดำรงชีวิต ของผู้คนในอดีต การทอเสื่อ เป็นไปเพื่อการใช้สอยในครัวเรือน         โดยท้องถิ่นใดมีต้นกกก็ทอเสื่อกก ท้องถิ่นใดมีต้นกระจูดก็ทอเสื่อกระจูด เสื่อในอดีตเป็นของใช้    ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับปูนั่งหรือนอน จนถึงกับมีคำกล่าว ว่าบ้านใดไม่มีเสื่อใช้ถือว่า พ่อ แม่ลูก  เกียจคร้าน ไม่มีฝีมือ หนุ่มสาวที่แต่งงานตั้งครอบครัวใหม่หรือขึ้นเรือน ใหม่จะต้องเตรียมที่นอน หมอน มุ้ง ส่วนเสื่อฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมทอสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน นอกจากนี้ยังทอเพื่อถวายเป็นไทยทานให้กับวัด เพื่อบำรุงศาสนาในฤดูเทศกาลต่างๆ และยังนำเสื่อที่ทอไปซื้อขายแลกเปลี่ยน กับหมู่บ้านใกล้เคียง  อีกด้วยส่วนในด้านการอนุรักษ์และถ่ายทอด ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวนโยบายของรัฐบาล ทำให้ชุมชนเล็งเห็น ความสำคัญของภูมิปัญญาของท้องถิ่น มีการเชิญให้ผู้ประกอบการ  เป็นวิทยากรสอนความรู้แก่นักเรียนในชุมชน และผู้สนใจทั่วไป จนกระทั่งบางโรงเรียนสร้างเป็น หลักสูตรการเรียนรู้ด้านการทอเสื่อให้แก่นักเรียนดังที่พบเห็นได้โดยทั่วไปตามแหล่งข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการทอเสื่อ

   ขั้นตอนหรือวิธีการที่สำคัญๆ มีดังนี้

1.       การปลูกกกหรือทำนากก นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัสดุในการทอเสื่อ โดยเตรียมที่ดินด้วยการไถ แล้วปักดำหัวกกลงในนาเหมือนการดำนาข้าว จากนั้นมีการบำรุงรักษาถอนหญ้าใส่ปุ๋ย ปลูกแซม ด้วยเวลา 3-4เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้

2.       การตัดต้นกกจะใช้มีดเล็กตัดเกือบถึงโคนต้นกก แล้วนำมากองเรียงเพื่อคัดแยกขนาด ตั้งแต่

  ความยาว 9 คืบ 8 คืบ เรื่อยลงมา จนถึง 4 คืบ จากนั้นนำแต่ละกองที่มีขนาดเท่ากันมัดเก็บ      

  ไว้ด้วยกันตัดดอกทิ้งเพื่อทา การกรีดเป็นเส้น  

3.       การกรีดจะใช้มีดปลายแหลมที่ทำมาจากใบเลื่อย กรีดแบ่งครึ่งกกแต่ละเส้นถ้าเป็นต้นเล็ก ถ้าเป็นต้นใหญ่ก็กรีดเหมือนกัน แต่จะมีส่วนที่กรีดทิ้ง เพื่อให้แห้งง่าย

4.       หลังจากได้เส้นกกแล้วก็นำไปตากโดยแผ่วางเรียงเป็นแนวยาว วันแรกจะตากเต็มวัน จากนั้น นำมามัดเป็นมัดเล็กๆ แล้วตาก อีกราว 2 วัน ให้เส้นกกนั้นแห้ง   

5.       การย้อมสีนำกกที่ตากแห้งแล้วมามัดแช่น้ำ ราว 10 ชั่วโมง เพื่อให้เส้นกกนิ่ม จากนั้นต้มน้ำ ให้เดือดใส่สีย้อมแล้วนำเส้นกกที่มัดเป็นกำแช่ลงไปในน้ำสีที่กำลังเดือดทิ้งไว้10-15 นาทีจึง

นำไปแช่น้ำ แล้วนำขึ้นตากในที่ร่มมีลมพัดผ่าน 3-4 วัน เมื่อเส้น กกสีแห้ง ก็สามารถนำไปใช้ในการทอได้

6.       การทอจะร้อยเส้นเอ็นกับฟืมเป็นเส้นยืนตามขนาดของคืบที่กำหนด แล้วใช้เส้นกกใส่กระสวยทอเรียงเป็นเส้นนอนคล้ายการทอผ้า การใส่ลายสีในการทอนิยมใส่ตอนแรกและตอนสุดท้ายของการทอ เมื่อจะเต็มผืน

7.       เมื่อทอได้เต็มก็มัดริมเสื่อ  ตัดเสื่อออกจากกี่และตัดริมอีกครั้งพร้อมแต่งเสื่อให้มีความเรียบร้อยสวยงาม

8.       ส่วนราคาในการขาย ถ้าเป็นเสื่อกกแบบธรรมดา 5 คืบ ผืนละ 80 บาท, 6 คืบ ผืนละ 100 บาท, 7คืบ ผืนละ 120 บาท, 8 คืบ ผืนละ 150 บาท และ 9 คืบ ผืนละ 180 บาท ถ้าเป็นเสื่อกกแบบสีจะทำ ตั้งแต่ 7 คืบ ในราคาผืนละ 250 บาท, 8 คืบ ผืน ละ 1300 บาท และ

9 คืบ ผืนละ 1,350 บาท

     การทอเสื่อกกของชาวบ้านห้วยก่องข้าว  ตำบลผานกเค้า  มีการทำสืบทอดกันมายาวนานนับตั้งแต่แรกเริ่มตั้งหมู่บ้านและถ่ายทอดอารยธรรมทางปัญญาสืบต่อๆ กันมาทางระบบครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  ด้วยมูลเหตุทางด้านภูมิศาสตร์  พื้นที่ในชุมชนมีต้นกกขึ้นแต่แรกและมีการทำนากก  เพื่อเก็บรักษาวัตถุดิบธรรมชาติไว้ใช้ในการทอเสื่อสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย   ทำให้ความรู้ในภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ดำรงอยู่สืบมาอย่างต่อเนื่อง  กระทั่งปัจจุบันการทำนากกบางครอบครัวยึดถือเป็นอาชีพหลักนอกเหนือจากการทำนาข้าว หรือเกษตรกรรมอื่นๆ ทั้งนี้เพราะสามารถขายผลผลิตที่เป็นกกสดหรือกกเส้นแก่ผู้ทอรายอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี กระทั่งมีพ่อค้ารับส่งถึงที่เพื่อไปขายให้แก่ผู้ทอในจังหวัดอื่นๆ

         เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับการทอเสื่อกก  เป็นพื้นฐานความรู้ที่เริ่มตั้งแต่ครอบครัว  ที่ทำเพื่อไว้ใช้และทำเหลือจากใช้ไว้ขายเป็นรายได้เสริม เด็กๆ ได้ซึมซับรับรู้กรรมวิธีและขั้นตอนการทำ การทอนี้มาตลอดเมื่อโตพอก็จะได้รับการฝึกฝนจนเป็นทักษะและความชำนาญและกลายเป็นที่ยอมรับ  กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ไปในที่สุด แม้ปัจจุบันจะมีกระแสค่านิยมในอาชีพตามโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นทางเลือก ก็ยังมีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่พึงพอใจจะอยู่สืบสานงานอาชีพด้านเกษตรกรรม และการทอเสื่อกกจากบรรพชนอยู่กับบ้านอีกทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่เคยปล่อยเวลาว่างให้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์  ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือล้วนอยู่ใกล้ตัว  เพียงหยิบฉวยเส้นกกขึ้นสอดใส่ไม่ช้าก็ได้เสื่อผืนงามที่ทำรายได้อย่างน่าพอใจ  ทำให้การทอเสื่อกกของชาวชุมชนแบบดั้งเดิม ได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้มีคุณภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ถึงแม้ค่านิยมในการใช้เสื่อกกในปัจจุบันจะลดลง แต่การทำนากก การทอเสื่อกกก็ยังสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมแก่ชาวชุมชนได้ไม่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการเป็นกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อ สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนทั้งทางด้านการผลิตและทางด้านการตลาด

     ส่วนในด้านการอนุรักษ์และถ่ายทอด  ทำให้ชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาของท้องถิ่น  มีการเชิญให้ผู้ประกอบการเป็นวิทยากรสอนความรู้แก่คนในชุมชนและผู้สนใจทั่วไป  จนกระทั่งบางโรงเรียนสร้างเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการทอเสื่อให้แก่คนในชุมชนดังที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการทอเสื่อกก 

      แม้คนรุ่นใหม่ของชุมชนจะมีค่านิยมในการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปตามกระแสของสังคม   คือเข้าสู่โรงงาน แต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  ยังคงเป็นเกษตรกรที่ทำนา เลี้ยงสัตว์ เมื่อมีเวลาว่างก็ทอเสื่อตามปกติ ปัญหาขาดผู้สืบทอดดูมิใช่ปัญหา เพราะลูกหลานกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้  ล้วนซึมซับรับรู้การทอเสื่ออยู่เต็มตัวตั้งแต่เล็ก  ซึ่งเมื่อไรที่โรงงานปิดตัวลงหรือคนรุ่นใหม่มีอายุมากขึ้น  และเบื่อชีวิตโรงงาน  ก็สามารถหันกลับมาจับงานเกษตรกรรม  และใช้เวลาว่างทอเสื่อได้ทุกเวลา ซึ่งเมื่อลองมองดูรายได้ของสมาชิกหลังขายผลิตภัณฑ์แล้วเฉลี่ยมีรายได้เดือนล่ะ 4,000-5,000 บาทเลยทีเดียว

      ด้านเยาวชนในชุมชน  ภูมิปัญญานี้ได้ถูกปลูกฝังด้วยระบบของการศึกษาที่กลุ่มแม่บ้านออกไปเป็นวิทยากรสอนแก่นักเรียนและผู้สนใจ  นอกเหนือจากการปลูกฝัง ความรู้ทางระบบครอบครัวอีกทางหนึ่ง  ปัจจุบันการทำนากก  เพื่อขายต้นกกสดหรือเส้นกกแห้งให้เป็นวัตถุดิบแก่ผู้ทอ  นับเป็นการช่วยย่นระยะเวลาของผู้ประกอบการ  ไม่ต้องมาเสียเวลาทำนากก  สามารถซื้อเส้นกกไปใช้ขายได้เลย  ทำให้การทอเสื่อยังคงดำรงอยู่ได้อีกรูปแบบหนึ่งแต่อาจก่อปัญหาในภูมิปัญญาการทำนากกในวันข้างหน้า  แก่คนรุ่นใหม่ได้  เส้นทางของการทอเสื่อนอกจากทำเป็นแผ่นผืนไว้ใช้สอยแล้ว  ยังมีอีกในการประยุกต์ผืนเสื่อแปรเป็นรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า  ซองจดหมาย  จานรอง รองเท้า  ฯลฯ 

ซึ่งผู้ประกอบการในชุมชนนี้ยังก้าวมาไม่ถึง  จึงนับว่ายังมีช่วงเวลาของการสืบสานภูมิปัญญาในการทออีกระยะหนึ่ง  กว่าจะถึงจุดเปลี่ยนของภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ธุรกิจชุมชนและการตลาด

ตราบใดที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังเป็นเรื่องของวิถีชีวิตในชุมชน  ตราบนั้นภูมิปัญญายังอยู่ได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน  แต่ถ้าตราบใดภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกผลักดันให้เป็นจุดนำวิถีชีวิต เพื่อหวังผลในเชิงธุรกิจและผลประโยชน์แล้ว  อันตรายของภูมิปัญญาคือการถูกตีค่าเป็นเรื่องของวัตถุ  มิใช่มีผลต่อจิตใจตราบนั้นความเสื่อมสูญก็จะเร่งวันให้ผันแปรไปตามกระแสทันที

          สถานที่ตั้ง (พิกัด) ของผู้ประกอบอาชีพหรือของชุมชน

สถานที่ตั้ง  บ้านห้วยข้าว  หมู่ 11    ตำบล/แขวง ผานกเค้า

อำเภอ/เขต ภูกระดึง จังหวัด เลย โทรศัพท์ -

โทรสาร   - โทรศัพท์มือถือ -

E-mail.................................................................

พิกัด.....https://maps.app.goo.gl/ZjNaLE42JW1xQtc16?g_st=il.....

ผู้ให้ข้อมูลและผู้เรียบเรียง หรือ ผู้เขียน

      ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดยนางวิลาวัณย์  แซ่อัง

                                        ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดยนางวิลาวัณย์  แซ่อัง

    ข้อมูลเนื้อหา โดย นางประยูร  ภิญโญ

                                         เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางวิลาวัณย์  แซ่อัง

                                         ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางวิลาวัณย์  แซ่อัง