การทอผ้าลายผีตาโขน

กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเครือคู้ ตั้งอยู่ ณ ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาอาชีพกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเครือคู้ เลขที่ 76 บ้านเครือคู้ หมู่ที่ 2 ตำบลปากหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย รหัสไปรษณีย์ 42120 มีนางถาวร อุ่นแก้ว เป็นประธานกลุ่ม เริ่มก่อตั้งกลุ่มเมื่อปี 2540 สมาชิกกลุ่ม 25 คน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดรวม 39 คน เริ่มทอผ้าเพื่อจำหน่ายด้วยผ้าสีพื้น ผ้าขาวม้า ผ้าถุงลายหมี่ย่อย ต่อมาได้เพิ่มเป็นผ้าถุงลายผ้าซิ่นบ้านไร่ ผ้าลายเกล็ดเต่า จนกระทั่งปี 2545 จึงเริ่มเกิดแนวคิดในการพัฒนาลายผ้าของกลุ่ม ซึ่งเดิมส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อจำหน่ายในท้องถิ่นละแวกใกล้เคียง กลุ่มลูกค้ายังไม่ขยายพอ เพราะลวดลายและเทคนิคการทอยังไม่ดึงดูดต่อลูกค้าทั่วไป และได้รับคำแนะนำจากทั้งลูกค้า และบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ให้นำเอกลักษณ์ของอำเภอด่านซ้ายคือ งานประเพณีการละเล่นผีตาโขน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปอยู่แล้ว มาผสมผสานกับวัฒนธรรมการทอผ้า โดยออกแบบลายผ้าโดยการมัดหมี่ เป็นผ้าทอมือลายผีตาโขน เพราะสมาชิกกลุ่มมีความรู้ ความชำนาญ ในการมัดหมี่มาก่อนทำให้ง่ายต่อการพัฒนา และกลุ่มได้พัฒนารูปแบบของลายผีตาโขน ผลิตเพื่อจำหน่าย จนถึงปัจจุบัน


ผ้าทอมือลายผีตาโขน ผีตาโขนมีที่มาจากประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆปี ในช่วง เดือนเจ็ด ถึงเดือนแปด (ตามจันทรคติ) เป็นประเพณีที่รวมเอาความเชื่อและศรัทธาของชาวอีสานมารวมกันไว้ คือ งานประเพณีบุญพระเวส(บุญมหาชาติ ชาวด่านซ้ายเรียกบุญหลวง) บุญบั้งไฟ (ชาวอีสานทั่วไปจะจัดงานบุญพระเวส ในเดือน สี่ และบุญบั้งไฟ ในเดือน หก) ซึ่งในประเพณีดังกล่าวจะมีลักษณะที่แสดงออกถึงความสนุกสนานบรรดาผีตาโขน ที่ตามเสด็จของขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ซึ่งบรรดาผู้เข้าร่วมจะสวมหน้ากาก ทำจากหวดนึ่งข้าวและทางมะพร้าวตัดเป็นรูปหน้าและประกอบจมูกยื่นยาว ตัดรูปตาและเขียนลวดลายตามความถนัดของช่างแต่ละคน เพื่อสวมบนศรีษะ และผู้ที่สวมหน้ากากจะสวมชุดที่ยาวรุ่มร่าม ขาดรุ่งริ่ง คล้ายผี เพื่อให้เกิดความน่ากลัว กลุ่มจึงได้นำเอาเอกลักษณ์ของ”หน้ากากผีตาโขน” ไปลงบนผืนผ้าของกลุ่มเช่นเดียวกัน โดยใช้รูปแบบการทอผ้ามัดหมี่ มีนางคำพัน ฤทธิศักดิ์ สมาชิกกลุ่มและเป็นผู้ที่มีความชำนาญ เป็นผู้คิดค้นและมัดลายต้นแบบและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

เอกลักษณ์/ จุดเด่นผลิตภัณฑ์

จุดเด่นของผ้าทอมือลายผีตาโขนของบ้านเครือคู้ คือ ลวดลาย ที่ปรากฏ คือการมัดหมี่เป็นรูปผีตาโขน ทั้งเฉพาะส่วนหน้า(หน้ากาก) รูปแบบการยืนเต็มตัว การนั่ง หน้า ตรง หน้าเอียง ซึ่งเป็นลักษณะท่าทาง ของการละเล่นผีตาโขน ซึ่งเป็นการนำเอาภูมปัญญาการทอผ้า ผสมผสานกับการนำเสนอประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม ของชาวอำเภอด่านซ้าย เหมาะที่จะเป็นของที่ระลึก ของขวัญ นำไปตัดเสื้อผ้าสวมใส่ได้

อุปกรณ์ในการทำจะใช้วิธีการประกอบเองโดยได้รับการสืบทอดวิธีการทำจากผู้เฒ่า ผู้แก่ ในหมู่ บ้าน และจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ